3 ขั้นตอน ต่อรองราคาบ้านมือสอง ขั้นเทพ



การต่อรองราคาซื้อขาย บ้านมือสอง เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์สำคัญในการตัดสินใจเลือกซื้อ บ้านมือสอง สักหลัง แน่นอนว่าผู้ขาย ย่อมต้องการขายในราคาสูงสุดเท่าที่จะทำได้ ขณะที่ฝั่งผู้ซื้อก็ต้องการราคาต่ำสุดที่จะทำได้เช่นกัน TerraBKK ได้รวบรวม 3 ขั้นตอนต่อรองราคาบ้านมือสอง ครอบคลุมทั้งด้านข้อมูลพื้นฐานของบ้านมือสอง ,สถานการณ์เป็นต่อของผู้ซื้อ และรูปแบบการเจรจาต่อรองราคาขาย ที่จะช่วยให้การต่อรองราคาซื้อขายบ้านนั้น เป็นการหาข้อตกลงราคาบ้านมือสองที่ยอมรับได้ทั้งสองฝ่ายด้วยความยินดี รายละเอียดดังนี้

ขั้นตอนที่ 1 : ทำการบ้านหาข้อมูลบ้านมือสอง

  • ค้นหาข้อมูลบ้านมือสองในทำเลเป้าหมายจากสื่อออนไลน์ จัดกลุ่มบ้านที่อยู่ละแวกเดียวกัน ลงสนามสำรวจพื้นที่จริง เทคนิคนี้จะสร้างโอกาสถึง 2 เด้ง คือ โอกาสตรวจสอบสภาพบ้านและพูดคุยกับเจ้าของบ้านใน list ที่เตรียมมา และ โอกาสพบประกาศขายบ้านของคนในพื้นที่ ที่ไม่ได้ประกาศลงเว็บ เพิ่มเป็นตัวเลือกก่อนตัดสินใจซื้อบ้านมือสองได้


  • ศึกษา รายละเอียดเด่นๆบริเวณบ้านมือสอง ที่น่าสนใจ เช่น สภาพการเดินทาง สภาพพื้นที่โดยรอบ ความพลุ่กพล่านของชุมชน ตั้งอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมหรือดินทรุดหรือไม่ เป็นต้น รวมทั้ง รายละเอียดสภาพบ้าน เช่น ขนาดที่ดิน ,อายุบ้าน,สภาพความทรุดโทรมของโครงสร้าง , การใช้ประโยชน์พื้นที่ , การตกแต่งต่อเติม เป็นต้น เทคนิคนี้จะเป็นการเพิ่มข้อมูลทรัพย์ เพื่อนำมาใช้กล่าวอ้างในการต่อรองราคาบ้านมือสองได้
  • กำหนดภาพสุดท้ายของบ้านที่ต้องการ เทคนิคนี้จะช่วยตรอกย้ำเป้าหมายแท้จริงของผู้ซื้อ มองข้ามบ้านมือสองพร้อมอยู่ราคาแพงได้ บางครั้งการเลือกบ้านมือสองสภาพเก่า ไม่ได้มีการตกแต่ง แต่มีพื้นฐานโครงสร้างดี ย่อมนำมาเป็นข้อต่อรองราคาได้ง่ายกว่า
  • ทำสัญญาวางจองมัดจำ กรณีพบบ้านมือสองที่ถูกใจถูกราคา เทคนิคนี้จะสร้างความมั่นใจแก่ทั้งสองฝ่ายอย่างเสมอภาค เพราะการเจรจาปากเปล่า ไม่มีหลักฐาน หากผู้ซื้อเปลี่ยนใจไม่ติดต่อกลับ ก็จะเกิดความเสียหายเสียโอกาศแก่ผู้ขาย ในทางตรงกันข้าม หากผู้ขายตัดสินใจขายบ้านให้กับผู้สนใจรายใหม่ที่ยินดีจ่ายสูงกว่า ผู้ซื้อก็จะพลาดท่าเสียดายเอาทีหลังได้

ขั้นตอนที่ 2 : สถาณการณ์สร้างความเป็นต่อแก่ผู้ซื้อ
 

  • ซื้อบ้านมือสองใน พื้นที่คุ้นเคย เช่น เคยเช่าอยู่ละแวกนั้นมาก่อน มีคนรู้จักเป็นคนพื้นที่ เป็นต้น จะช่วยสร้างบรรยากาศความเป็นกันเอง พูดคุยกับเจ้าของบ้านได้ง่ายขึ้น ช่วยให้การต่อรองราคาเป็นไปอย่างสบายๆ ไม่ตึงเครียดจนเกินไป
  • เลือกบ้านมือสองที่ ประกาศขายโดยเจ้าของบ้าน เพราะเจ้าของบ้านทั่วไป ไม่ได้มีโอกาสประกาศขายบ้านบ่อยนัก จึงไม่ได้มีประสบการณ์การขายเชี่ยวชาญเหมือนเหล่านายหน้า ดังนั้น ผู้ซื้อจึงมีโอกาสเจรจาต่อรองราคาได้ง่ายกว่านั้นเอง
  • เลือกบ้านมือสองที่ เจ้าของบ้านต้องการขายอย่างเร่งด่วน เช่น จำเป็นต้องใช้เงินก้อนโต , โยกย้ายถิ่นฐานไปต่างประเทศ เป็นต้น ถือเป็นช่วงโอกาสดี อำนาจในการต่อรองราคาบ้านจะตกไปอยู่ฝั่งผู้ซื้อ ทั้งนี้ หากสาเหตุการรีบเร่งขายดูไม่ปกติ เช่น น้ำท่วมง่ายตอนฝนตก , ก่อสร้างถนนใหม่สูงกว่าตัวบ้าน เป็นต้น ก็ไม่ควรซื้อ แม้จะมีราคาถูกมากก็ตาม
  • ซื้อบ้านช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ ช่วงที่คนทั่วไปมีสภาพการเงินไม่คล่อง ความสามารถในการซื้อบ้านน้อย เป็นสาเหตุให้ Damand ความต้องการซื้อบ้านต่ำ จึงทำให้ผู้ซื้อบ้านในช่วงนั้น มีอำนาจในการเจรจาต่อรองราคาอยูเหนือเจ้าของบ้านมือสอง

ขั้นตอนที่ 3 : รูปแบบการเจรจาต่อรอง
 

  • นำ ข้อด้อยของบ้าน มาเป็นหลักฐานในการต่อรองราคา เพราะผู้ซื้อจำเป็นต้องเสียเงินเพิ่มในการปรับปรุงแต่งเติ่มบ้าน เช่น ประตูห้องน้ำบวม, หลังคารั่วซึม, ผนังบ้านเป็นรอยร้าว เป็นต้น
  • เจรจาต่อรองผลประโยชน์อื่น ทดแทนการยินยอมจ่ายเต็มราคาประกาศขาย เพื่อสร้างความพอใจแก่ผู้ขาย เช่น ค่าโอน , เฟอร์นิเจอร์ของแถม เป็นต้น
  • กรณีกู้ซื้อบ้าน หากผู้ซื้อตัดสินใจเลือกบ้านหลังนี้ แต่ด้วยความสามารถในการกู้ ไม่สามารถกู้ได้ถึงระดับราคาบ้านที่ผู้ขายตั้งไว้ได้ อาจใช้วิธีกล่าวเจรจากับผู้ขายไปตามตรง หากผู้ขายมีความเห็นใจ การเจรจาต่อรองราคาบ้านจะมีความเป็นไปได้สูง
  • เจรจาต่อรองสร้างประโยชน์แก่ผู้ขาย ให้เห็นว่าผู้ขายมีโอกาสรับผลประโยชน์ทันที ถ้าตกลงปล่อยขายในราคาที่ตกลงกัน เช่น ยินดีจ่ายเงินสดพร้อมโอน เป็นต้น

     

ปกติผู้ขายมักตั้งราคาขายเผื่อการต่อรองราคา และด้วยความเป็นเจ้าของบ้าน ย่อมมีความรักความผูกพันธ์ทรัพย์สินของตน ดังนั้น หากผู้ซื้อแสดงความชื่นชอบตัวบ้านอย่างจริงใจ โน้มแนวให้ผู้ขายเห็นใจผู้ซื้อ ก็จะทำให้การต่อรองราคาบ้านเป็นไปได้ง่ายขึ้น เพราะเจ้าของบ้านก็อยากขายบ้านให้กับผู้ซื้อที่ชอบบ้านหลังนั้นจริงๆอยู่แล้ว --เทอร์ร่า บีเคเค