ในยุคปัจจุบันนี้ ชีวิตคนเรานั้นใช้โซเชียลมีเดียกันอย่างแพร่หลาย ซึ่งในมุมหนึ่งก็ทำให้เราดูเหมือนมีเพื่อนฝูงเยอะมาก มีคนติดตามมากมาย แต่ในอีกด้านก็ทำให้มีคนที่รู้สึกโดดเดี่ยวแปลกแยก ความโดดเดี่ยวนั้นได้ทวีขึ้นจนกลายเป็นปัญหาทางจิต และ สุขภาพ ซึ่งสร้างผลกระทบในสังคมอย่างมาก จากรายงานเมื่อปี 2017 ของสหราชอาณาจักรพบว่า ประชากรมากกว่า 9 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นถึง 13% ของประชากรทั้งหมด มีอาการโดดเดี่ยวบ่อยครั้งหรือตลอดเวลา ซึ่งสาเหตุหลักของความโดดเดี่ยวในสหราชอาณาจักรนั้นมาจาก การหย่าร้าง การสูญเสียคนรัก และ การขาดที่พึ่งพิง มีเรื่องของความแปลกแยกในที่ทำงาน ที่ทำให้บางคนรู้สึกไม่เชื่อมโยงกับคนอื่นๆในที่ทำงาน จากเหตุเหล่านี้ทำให้นายกรัฐมนตรีของสหราชอาณาจักรในขณะนั้นคือ Theresa May พ่วงคำว่า Loneliness ไปกับตำแหน่ง Minister of Sports and Civil Society และแต่งตั้ง Tracey Crouch มารับตำแหน่งนี้เพื่อดูแลความโดดเดี่ยวของประชากรในสหราชอาณาจักร แต่หลังจากอยู่ในตำแหน่งไปได้เพียงไม่กี่เดือน Tracey Crouch ก็ประกาศลาออกเพราะไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการพนัน ตำแหน่งรัฐมนตรีนี้จึงถูกผ่านมือมาถึง Mims Davies ในยุคของรัฐมนตรี Mims ก็มีโครงการเช่น LetsTalkLoneliness ที่ตั้งเป้าเพิ่มความตระหนักรู้และลดความรู้สึกผิดจากการที่ต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยวลง และมีการลงทุนกว่าหนึ่งล้านปอนด์เพื่อสนับสนุนเทคโนโลยีดิจิตอลที่ช่วยให้ผู้คนเชื่อมโดยกันได้มากขึ้น แต่หลังจากการปรับคณะรัฐมนตรีของสหราชอาณาจักรในปี 2019 ตำแหน่งนี้ก็ตกเป็นของ Diana Barran   

ที่มา linkinglives.uk

                  ปัญหาความโดดเดี่ยวก็ไม่ได้เป็นประเด็นสำคัญเพียงแค่ในสหราชอาณาจักร ล่าสุดในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2021 นายกรัฐมนตรี Yoshihide Suga ของญี่ปุ่น ก็มีการประกาศแต่งตั้ง Tetsushi Sakamoto ขึ้นเป็นรัฐมนตรีชั่วคราวด้าน Loneliness เพื่อช่วยบรรเทาความโดดเดี่ยวที่เกิดจากวิกฤตโควิด 19 ในญี่ปุ่น เพราะที่ผ่านมาในช่วงหลายปีญี่ปุ่นพยายามอย่างมากในการลดจำนวนการฆ่าตัวตาย แต่ในปี 2020 ที่ผ่านมา ยอดการฆ่าตัวตายในญี่ปุ่นเพิ่มสูงขึ้น เพราะมีผู้คนที่ต้องทนอยู่คนเดียวเพราะการเก็บตัวจากวิกฤตโควิด19 ในสังคมญี่ปุ่นนั้นมีการระบุกลุ่มคนที่อยู่อย่างสันโดษไว้ว่า Hikikomori ซึ่งคนเหล่านี้จะเก็บตัวอยู่แต่ในที่พักของตนเองและมีความเสี่ยงสูงที่จะฆ่าตัวตาย โดยหน้าที่หลักของรัฐมนตรีความโดดเดี่ยวคือการสร้างและส่งเสริมกิจกรรมเพื่อเพิ่มปฎิสัมพันธ์ในสังคม

ที่มา economist.com

                  ประเด็นจากการเพิ่มการปฎิสัมพันธ์ในสังคมก็ส่งผลต่อแนวทางการออกแบบสถานที่ต่างๆ ในยุคหลังวิกฤตโควิด19 เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นที่ทำงาน ศูนย์การค้า ที่อยู่อาศัย ก็ควรให้ความสำคัญกับส่วนของพื้นที่สำหรับ social และทำกิจกรรมให้มากขึ้นเพราะในช่วงโควิดที่หลายคนต้องเก็บตัวอยู่ในบ้านจากการ lockdown หรือ work from home การที่ได้ออกไปข้างนอกไปเดินห้างก็ถือเป็นการได้ไปพบปะผู้คน ดังนั้นการออกแบบพื้นที่ในร้านค้าให้มีการ social เกิดขึ้นนั้น นอกจากจะทำให้เกิดโอกาสในการพบปะผู้คนมากขึ้นเพื่อระบายความอัดอั้นจากการเก็บตัวแล้วนั้น ยังสร้างโอกาสให้ผู้คนได้สร้าง experience ร่วมกันทั้งในกลุ่มของตนเองและกับส่วนต่างๆของสถานที่ และยังสามารถช่วยให้เกิดการใช้เวลามากขึ้นภายในร้านค้าหรือศูนย์การค้า ซึ่งส่งผลให้เกิดการใช้จ่ายภายในร้านค้าและศูนย์การค้าเพิ่มขึ้นอีกด้วย

           

ตัวเลขของผู้ป่วยที่เป็นโรคที่เกิดจากความเหงาและโดดเดี่ยวนั้นเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แม่ว่าจะมีโควิดหรือไม่ก็ตาม โควิดเป็นเพียงตัวเร่งให้ตัวเลขผู้ป่วยนั้นเพิ่มสูงขึ้น กรมสุขภาพจิตและ WHO ได้ประเมินในปี 2017 ว่าในประเทศไทยนั้นมีผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ราวๆ 1.5–2.9 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นราวๆ 2-4% ของจำนวนประชากรในประเทศไทย ซึ่งถือว่ายังน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ป่วยในสหราชอาณาจักรหรือญี่ปุ่น แต่ความโดดเดี่ยวและโรคซึมเศร้าก็เป็นอาการที่เราไม่สามารถมองข้ามไปได้ เพราะสามารถเกิดได้ทั้งกับตัวเราเองและคนใกล้ตัวและจากวิกฤตโควิดก็ทำให้มีแนวโน้มว่าจะมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นเราเองสามารถช่วยเหลือผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าได้โดย สร้างสัมพันธภาพ สื่อสารเชิงบวก เพื่อให้เกิดการเปิดใจ และรับฟังสิ่งที่เขาพูดอย่างตั้งใจ และคิดทางบวกอยู่เสมอๆ ตามหลัก “3ส” ในการป้องกันปัญหาตามคำแนะนำจากกรมสุขภาพจิต คือ สอดส่องมองหา ใส่ใจรับฟัง และ ส่งต่อเชื่อมโยง อย่างน้อยเราก็สามารถช่วยบรรเทาอาการให้ผู้ป่วยที่รู้สึกโดดเดี่ยวนั้นลดระดับความรุนแรงของอาการลง และ สร้างภูมิคุ้มกันจากภาวะซึมเศร้าได้อย่างแข็งแรงต่อไป