หลังจากผ่านสถานการณ์วิกฤตโคโรนาไวรัส (COVID-19) ทั่วโลกต่างต้องเผชิญหน้ากับภาวะถดถอยหรือวิกฤติเศรษฐกิจโลก (World great depression 2020) อย่างที่ไม่เคยเจอมาก่อน การเปลี่ยนแปลงแบบฉับพลันของพฤติกรรมผู้บริโภค เกิดเป็นพฤติกรรมใหม่หรือ New Normal ทำให้แนวคิดการสร้างแบรนด์ กลายเป็นความท้าทายใหม่ต่อเจ้าของแบรนด์แที่ต้องบริหารแบรนด์ให้อยู่รอดภายใต้วิกฤติเช่นนี้

TerraHint Brand Series 2020 ปีนี้ จึงเป็นการกลับมาอีกครั้งในหัวข้อที่ทุกคนกำลังให้ความสนใจ สู่การนำแบรนด์ฝ่าวิกฤติ “Leading the Brand through crisis” บรรทัดต่อจากนี้ไปจะเป็นสรุปกุญแจสำคัญของงาน หากใครไม่อ่านถือว่าพลาดอย่างแรงเลยทีเดียว

Key Highlight : ประเด็นหลักของงานสัมมนาประกอบด้วย

  • ผลวิจัย The most powerful brand in real estate 2020
  • Customer insight on real estate after covid-19
  • The Next Normal in Real Estate
  • How to build corporate brand & personal brand?
  • Effective brand management during crisis

นางสาว สุมิตรา วงภักดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท เทอร์ร่า มีเดีย แอนด์ คอนซัลติ้ง จำกัด   ผู้ให้บริการเว็บไซต์ TerraBKK.com  สำหรับค้นหาบ้าน-คอนโดฯ พร้อมให้คำปรึกษาด้านการพัฒนาอสังหาฯทุกประเภทอย่างเจาะลึก กล่าวว่า แม้วิกฤติโควิด 19 ในไทยจะมีทิศทางดีขึ้น แต่ด้วยสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันที่ยังไม่ฟื้นตัว ทำให้คนส่วนใหญ่มีความกังวลต่อรายได้ที่ไม่มั่นคง และเชื่อมั่นว่าในช่วง 1 ปีข้างหน้า ภาพรวมเศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวดีขึ้น  ซึ่งจากผลงานวิจัย “The Most Powerful Brand 2020” ผลวิจัย The most powerful brand in real estate 2020 และ Customer insight on real estate after covid-19 (ดูสไลด์ฉบับเต็มได้ที่ www.terrabkk.com/images/event/docs/960c5358d77d76325262fb435a70ee5d.pdf) ทำให้เราพบข้อมูลสำคัญ 3 หัวข้อที่น่าสนใจ คือ 

สำหรับผลการวิจัย Customer insight on real estate after covid-19 ปีนี้จะใช้วิธีเก็บข้อมูลที่ละเอียดขึ้นจากปีก่อนๆ เพื่อหาแง่มุมและข้อมูลใหม่ๆ ให้ลึกซึ้งมากขึ้น โดยจากเดิมเป็นการเก็บตัวอย่างผ่านออนไลน์ แต่ปีนี้จะแบ่งวิธีการสำรวจเป็น 2 แบบ ได้แก่ การตอบแบบสอบถามออนไลน์ 1,181 ตัวอย่าง และแบบสัมภาษณ์ (Face to Face) 400 ตัวอย่าง จากการเพิ่มวิธีการสำรวจ ทำให้เกิดการขยายฐานกลุ่มตัวอย่างเบบี้บูมมากขึ้น และกลุ่มที่มีรายได้ระดับล่าง (ต่ำกว่า 30,000 บาท) มากขึ้น แต่ฐานหลักก็ยังคงเป็น Gen X และ Gen Y ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มซื้ออสังหามากที่สุด

6 ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการพฤติกรรมการซื้อบ้าน

จากผลสำรวจปีนี้พบว่าผู้บริโภคมีพฤติกรรมการซื้อบ้าน (ในที่นี้รวมทั้งแบรนด์คอนโดมิเนียม, บ้านเดี่ยว และ ทาวน์โฮม/ทาวน์เฮาส์) คำนึงถึงปัจจัยสำคัญ 6 อันดับแรก ได้แก่ 1.ความน่าเชื่อถือ น่าไว้ใจ 2.การประกอบธุรกิจตามหลักธรรมาภิบาล 3.เชี่ยวชาญ มีประสบการณ์สูง 4.ตอบโจทย์การใช้ชีวิต 5.เป็นมิตร ใส่ใจสิ่งแวดล้อม 6.ส่งเสริมภาพลักษณ์ผู้อยู่อาศัย

โครงการใหม่ ‘ราคา’ ยังคงเป็นอันดับ 1 ในการพิจารณา แต่ไม่ได้หมายถึง ‘ราคาถูก’

สำหรับที่อยู่อาศัยโครงการใหม่ ปัจจัยการเลือกซื้อ ‘ราคา’ ยังคงเป็นอันดับแรกที่มีผลต่อพฤติกรรมการเลือกซื้อ ไม่ว่าจะเป็นที่อยู่อาศัยเซกเมนต์ใด แต่ ‘ราคา’ ในที่นี่ไม่ได้หมายถึง ‘ถูก’ แต่หมายถึงราคาที่เหมาะกับงบประมาณในกระเป๋าของพวกเขา

ส่วนอีก 10 อันดับที่มีความสำคัญต่อการเลือกซื้อที่อยู่อาศัยกรณีเป็นโครงการใหม่ ประกอบด้วย 1.วัสดุในการก่อสร้าง 2.ระบบรักษาความปลอดภัย 3.บริการหลังการขาย 4.พื้นที่ใช้สอยภายในที่อยู่อาศัย 5.เงินดาวน์ ค่าผ่อน 6.การออกแบบภายในภายนอก 7.โปรโมชั่นส่วนลดของแถม 8.สภาพแวดล้อม 9.สังคมเพื่อนบ้านดี 10.พื้นที่ส่วนกลางและสิ่งอำนวยความสะดวก

ช่องทางการรับรู้แบรนด์ : สื่อเสิร์ชเอนจิ้น-เฟสบุ๊ค มาแรง แต่ปากต่อปากก็สำคัญ

เมื่อมาดูช่องทางการรับรู้แบรนด์สำหรับผู้บริโภคที่มีพฤติกรรมซื้อที่อยู่อาศัย ปีนี้เป็นที่น่าแปลกใจว่ากลุ่มเบบี้บูมนิยมการเสิร์ชเอนจิ้นและใช้เฟสบุ๊ค แสดงให้เห็นว่าคนกลุ่มนี้ปรับตัวเข้าสู่ออนไลน์มากขึ้น ขณะที่การได้รับคำแนะนำจากครอบครัว เพื่อน คนรู้จัก กลับมีผลต่อ Gen Y และ Gen Z สูงถึง 51% และ 52% ตามลำดับ ส่วน Gen X ซึ่งน่าจะเป็นกลุ่มที่แบกภาระทางการเงินของคนทั้งครอบครัว เลือกเสพสื่อหลากหลายช่องทางทั้ง ป้ายโฆษณากลางแจ้ง, เสิร์ชเอนจิ้น และเฟสบุ๊ค สะท้อนให้เห็นว่าคนกลุ่มนี้ ‘ช่างเลือก-คิดเยอะ’ มากกว่ากลุ่มอื่น

Customer Journey : โควิด-19 มาชีวิตเปลี่ยน

ต้องยอมรับว่าการมาถึงของโควิด-19 ประสบการณ์การรับรู้ของผู้บริโภคเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง สามารถแบ่งเป็นหัวข้อกว้างๆ ดังนี้

  • ความต้องการ : ในเชิงปัจเจก เพราะช่วงโควิด-19 ชีวิตอยู่บ้านมากขึ้น จึงทำให้ต้องการความเป็นส่วนตัว ความสะดวกสบาย และพื้นที่สำหรับคนในครอบครัวมากขึ้น แต่ถ้ามองในภาพรวมผู้บริโภคต้องการมีสินทรัพย์เป็นของตัวเองมากขึ้น  
  • การค้นหาข้อมูล : โดยภาพรวมการเสิร์ชหาข่าวสารยังคงเป็นเสิร์ชเอนจิ้นหลักๆ อย่าง Google, Youtube, พันทิป, เฟสบุ๊ค, Tiktok แต่ให้ความนิยมและเชื่อวิดีโอมากขึ้น เพราะรู้สึกว่าภาพเคลื่อนไหวมีความสมจริงมากกว่า ต่างจากภาพนิ่งที่สามารถตกแต่งได้ ส่วนโฆษณาจาก เฟสบุ๊ค,Tiktok ก็ไม่ได้สร้างความรู้สึกรำคาญ
  • การเปรียบเทียบ : การเปรียบเทียบโครงการถือเป็นพฤติกรรมสำคัญของผู้บริโภคเพื่อประกอบการตัดสินใจในการเลือกซื้อที่อยู่อาศัย ซึ่งพฤติกรรมนี้ยังคงเดิม ไม่ว่าจะเป็นการเทียบโลเคชั่น, ดีไซน์, ฟังก์ชั่น, ราคา&โปรโมชั่น และแบรนด์ ซึ่งถ้าเป็นแบรนด์ที่พวกเขาไม่รู้จัก พวกเขาจะข้ามการพิจารณาไปทันที  
  • กระบวนการคัดสรร : สิ่งที่เปลี่ยนแปลงมากที่สุด คือ จากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ผู้บริโภคลดการเดินทางเข้าดูโครงการจริงน้อยลง เหลือเพียง 3 ใน 5 เพื่อลดความเสี่ยงจากการอยู่ในที่สาธารณะ ทำให้ผู้บริโภคต้องการบริการจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายขายที่มีประสบการณ์มากขึ้น โดยเฉพาะความชำนาญให้คำแนะนำเรื่องกู้ธนาคารว่าควรไปธนาคารไหน


พฤติกรรมหลังโควิด-19 เปลี่ยนแล้วเปลี่ยนเลย
   

แน่นอนการมาถึงของโควิด-19 ย่อมทำให้ทุกคนเก็บตัวมากขึ้น กลุ่มผู้อยู่อาศัยใช้เวลากับครอบครัวมากขึ้น ทำอาหารมากขึ้น ลองใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ใช้เวลากับความบันเทิงในบ้านมากขึ้น ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้จะยังคงอยู่แม้ว่าสถานการณ์โควิด-19 จะผ่านไปแล้ว

เช่นเดียวกับพฤติกรรมที่ลดน้อยลง ได้แก่ ท่องเที่ยวในประเทศ ใช้จ่ายสินค้าหรูและแฟชั่น การซื้อสินค้ามูลค่าสูงจะชะลอไว้ก่อน เพื่อรอโปรโมชั่นที่ใช่และลดจริงๆ สำหรับพวกเขา

ทุกคนไม่ว่ากลุ่มไหนคิดตรงกันและได้รับผลกระทบเดียวกัน คือ จากสถานการณ์ปีที่ผ่านมาเมื่อเทียบกับปีที่แล้วมีสถานะทางการเงินแย่ลง ทำให้โควิด-19 มีผลกระทบต่อการซื้อบ้านสูงถึง 81% โดย 69% ไม่มั่นใจกับสภาพเศรษฐกิจและ 67% รู้สึกไม่มั่นคงทางรายได้และการงาน แต่ในทางกลับกันพบว่าเมื่อเจาะลึกไปถึงกลุ่มอาชีพ เกือบทุกกลุ่มอาชีพโดยเฉพาะกลุ่มเจ้าของกิจการเชื่อมั่นว่าภายใน 12 เดือนถึง 5 ปี เศรษฐกิจจะดีขึ้นตามลำดับ

หัวใจสำคัญในการซื้ออสังหา จากผู้ซื้อถึงผู้พัฒนา

แม้ภาพรวมการซื้อที่อยู่อาศัยจะชะลอตัว แต่ใช่ว่าไม่มีหนทางไป เพราะผู้บริโภคยังมีความต้องการซื้ออยู่ เพียงแต่ในฐานะผู้พัฒนาอสังหาฯ ต้องเสิร์ฟสินค้าให้ตรงใจ ตรงสถานการณ์ โดยเมื่อถามผู้บริโภคว่าอยากให้ผู้พัฒนาอสังหานำเสนอสิ่งใดเพื่อเพิ่มความสนใจในตัวสินค้า คำตอบที่ได้ตรงกันไม่ว่าเป็นกลุ่มตัวอย่างจากแบบทดสอบออนไลน์และการสัมภาษณ์ อันดับ 1 คือ ความคุ้มค่า รองลงมาคือ 2.มาตรฐานความปลอดภัย 3.ประหยัดพลังงาน 4.พื้นที่ตอบโจทย์ Work Form Home 5.สะอาด ถูกหลักอนามัย 6.พื้นที่ส่วนกลาง 7.ความน่าเชื่อถือ 8.การออกแบบบ้านเพื่อสมาชิกทุกคนในครอบครัว 9. Smart Home 10.ใช้วัสดุเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

จากการสำรวจมีจุดสังเกตที่น่าสนใจ คือ ความต้องการความน่าเชื่อจากแบรนด์ เดิมจะมีแค่ Gen Y และ Gen X เท่านั้น แต่ปีนี้กลับพบว่ากลุ่ม Gen Z ที่เคยถูกมองว่า ‘ไม่แคร์แบรนด์’ กลับกลายเป็นกลุ่มที่ต้องการเรื่องนี้มากกว่าทุกเจเนอเรชั่นสูงถึง 53%

Real Estate : The Most powerful brand 2020

ในที่สุดก็มาถึงผลการสำรวจที่รอคอยมากที่สุด ได้แก่ การประกาศตำแหน่ง Brand Powerful Band 2020 ซึ่งปีนี้ตกเป็นของ ‘แสนสิริ’ ที่ชนะขาดลอยมาเป็นปีที่ 3 โดยจากผลสำรวจสะท้อนให้เห็นว่า แต่ละแบรนด์ต่างมีจุดเด่นที่แตกต่างกัน ไปจนถึงการรักษามาตรฐานเดิมหลังจากต้องเผชิญวิกฤตต่างๆ มาตลอดทั้งปี อย่างแบรนด์พฤกษาและศุภาลัยมีคะแนนที่โดดเด่นเรื่องความคุ้มค่า โดยทั้งสองแบรนด์ถือว่าเป็นแบรนด์ที่มีพัฒนาการที่ดีเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว เช่นเดียวกับ AP และ SC ASSET

นอกจากนี้เมื่อแบ่งความเป็นผู้นำด้านต่างๆ ของแต่ละแบรนด์ ผู้บริโภคยังให้มุมมองที่ต่างกันไป ได้แก่ ผู้นำบ้านเดี่ยว (อันดับหนึ่ง เป็น แลนด์แอนด์เฮ้าส์) ผู้นำทาวน์โฮม (อันดับหนึ่ง เป็น พฤกษา) ผู้นำคอนโดมิเนียม (อันดับหนึ่ง เป็น LPN) ผู้นำนวัตกรรม (อันดับหนึ่ง เป็น แสนสิริ) และผู้นำคุณภาพ (อันดับหนึ่ง เป็น แสนสิริ)

ด้าน BRAND LEADER จากคำถามที่ว่า จากแบรนด์ที่คุณรู้จัก คุณคิดว่าเป็นผู้นำด้านใดมากที่สุด? (ตอบได้เพียงคำตอบเดียวในแต่ละด้าน) ผลปรากฎว่า ผู้นำด้านบ้านเดี่ยว นั้น ตกเป็นของ Land and Houses 49% ตามด้วย SC Asset 24% และอันดับ 3 คือ Sansiri 20% ในส่วนของผู้นำทาวน์โฮม อันดับหนึ่งคือ Pruksa 54% ตามมาด้วย Golden Land 27% และ AP 17% และสุดท้ายในส่วนของผู้นำคอนโดมิเนียม อันดับหนึ่งตกเป็นของ LPN  54% ตามด้วย Ananda 31% และ อันดับ 3 คือ Origin 30% 

Brand Image : Real Estate VS Car

นอกจากนี้ยังมีอีกผลสำรวจที่ได้รับความสนใจจนถือได้ว่าเป็นอีกไฮไลต์ของงานเลยทีเดียว เพราะเป็นการเปรียบเทียบที่ทำให้ผู้บริโภคและผู้พัฒนาอสังหามองเห็นภาพแบรนด์ได้อย่างเป็นรูปธรรมไปในทิศทางเดียวกัน นั่นคือ มุมมองของผู้ซื้ออสังหาฯ เมื่อนำแบรนด์อสังหามาเทียบกับแบรนด์อิมเมจของรถแต่ละยี่ห้อ โดยผลลัพธ์ปีนี้ยังคงใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา เพียงแต่ทางทีมสำรวจมีการนำแบรนด์ MINI Cooper ออก ทำให้อนันดาถูกนำไปเทียบกับ BMW ส่วนแบรนด์อื่นๆ จะเป็นอย่างไร ไปดูภาพด้านล่างกัน

 อย่างแบรนด์ Origin ถูกนำไปเทียบกับรถแบรนด์ทางเลือกอย่าง อย่าง Mazda กับ MG รวมถึง Tesla อีกด้วย 



 

GROUP TALK : แนวโน้มใหม่ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ The Next Normal in Real Estate
ดำเนินรายการโดย คุณอติชาต วงศ์วุฒิวัฒน์ ผู้ดําเนินรายการทีวีช่อง TNN24

อีกหนึ่งรายการที่ได้รับความสนใจไม่แพ้ผลวิจัย คือ GROUP TALK จาก 4 ผู้เชี่ยวชาญที่มาแชร์ไอเดียประเด็นร้อนที่กำลังได้รับการจับตามองในวงการอสังหา นั่นคือ The Next Normal in Real Estate ว่าจะไปในทิศทางไหนหลังสถานการณ์โควิด-19 นี้ TerraResearch ได้คัดเนื้อๆ มาไว้ที่นี่แล้ว

Vista Neo Design Concept | คุณเกชา  ธีระโกเมน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อีอีซี เอ็นจิเนียริ่ง เน็ทเวิร์ค จำกัด (EEC Engineering Network) ผู้ออกแบบเดอะ ฟอเรสเทียส์ โครงการเมืองแห่งแรกของโลกที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมของ MQDC  และเป็นวิศวกรที่คลุกคลีกับนวัตกรรมพลังงานสิ่งแวดล้อมมาตลอด 40 ปี

“โควิด-19 ทำให้วงการวิศวกรรมเปลี่ยนไปสิ้นเชิง ลูกค้าให้ความสำคัญกับการประหยัดพลังงานและรักษ์โลกมากขึ้น แต่ในแง่จุดขายไม่ได้เปลี่ยนไป พูดง่ายๆ ไม่พ้นเรื่องดิน น้ำ ลม ไฟ แต่ถ้าพูดเชิงวิศวกรรม คือ อากาศสะอาด พื้นที่ปลอดภัย ปราศจากเชื้อโรค มีพื้นที่สีเขียว ระบบจัดการน้ำที่ดี นี่ยังคงเป็นสิ่งที่คนต้องการมากที่สุด”

นั่นจึงเป็นที่มาในการใช้นวัตกรรมระบบสาธารณูปโภคในอุโมงค์ ระบบการจ่ายน้ำเย็นในอุโมงค์เพื่อช่วยรักษาอุณหภูมิ รวมถึงการผสมผสานเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ไปจนถึงแนวคิดการใช้ระบบถ่ายเทอากาศในอาคาร ที่ช่วยทำให้โครงการมีอากาศเย็นกว่าภายนอกมากกว่า 5 องศา และอากาศดีเท่ากับใช้หอระบายอากาศช่วง PM 2.5 ที่จีนใช้ถึง 3 หอ

“ในเชิงวิศวกรรมเรายังสามารถไปได้อีกทั้งเรื่องคุณภาพและมาตรฐาน แต่บริษัทมหาชนหลายแห่งอาจถูกบีบด้วยปัจจัยหลายประการ จนไม่กล้าทำต่างได้ แต่ทุกโครงการใน Vista เราเป็นอินเวสเมนท์ที่มีแต่มูลค่าเพิ่ม”


Wellness Reform | ผศ.ชูเกียรติ แซ่ตั้ง ภาควิชาครุศาสตร์สถาปัตยกรรมและการออกแบบ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ผู้เชี่ยวชาญด้านสถาปัตยกรรมทางการแพทย์ (เฮลธ์แคร์อาร์คีเทค) และเป็นสถาปนิกไทยคนแรกที่ได้อบรมมาตรฐาน JCI จากอเมริกา มาแชร์แนวคิดการพัฒนาอาคารสาธารณะไปสู่มาตรฐานความสะอาดระดับโรงพยาบาลว่า หลังเกิดเหตุการณ์โควิด-19 คำจำกัดความของสุขอนามัยทั่วไปเปลี่ยนไปจากเดิม จากแค่สิ่งปฏิกูลที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและมองเห็นได้ แต่ตอนนี้กลับขยายขอบเขตไปถึงสิ่งสกปรกที่มองไม่เห็นด้วย ดังนั้นแนวคิดการยกระดับมาตรฐานอาคารสาธารณะไปสู่มาตรฐานโรงพยาบาล จึงเป็นประเด็นที่คนหันมาสนใจ แต่อาจจะไม่ได้เป็นการนำมาใช้แบบแบบตรงไปตรงมา



“ความเข้าใจของผู้พัฒนาและคนส่วนใหญ่มักคิดว่าการเปลี่ยนมาสู่เฮลธ์แคร์อาร์คีเทคจะตามมาด้วยราคาหรือเปล่า แต่เราพิสูจน์แล้วว่า ไม่ได้แพงอย่างที่คิด และด้วยสภาพอากาศเมืองไทยก็เหมาะกับการเป็นเมดิคอลทราเวล”

ยกตัวอย่าง งานออกแบบสถานพยาบาลผู้สูงอายุ โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ (ใกล้อู่ตะเภา) มีการวางเลย์เอ้าต์ให้ห้องน้ำตั้งหันมุมไปด้านนอกอาคารเพื่อรับแสงแดด แทนที่จะอยู่ใกล้ประตูทางเข้าห้องอย่างที่เคยทำกันมา เพราะการให้ห้องน้ำรับแดดทำให้เกิดการฆ่าเชื้อเกิดสุขอนามัย และง่ายต่อเจ้าหน้าที่ไม่ต้องเดินผ่านห้องน้ำทุกครั้งที่เข้าห้อง เพราะถ้าห้องน้ำอยู่ติดประตูทางเข้า ทุกครั้งที่เจ้าหน้าที่เดินเข้าห้องโอกาสที่จะนำเชื้อโรคจากห้องหนึ่งไปสู่อีกห้องหนึ่งก็ง่ายขึ้น หรือแม้การไม่กลับซ้าย-ขวาของเลย์เอ้าต์ในทุกๆ ชั้น เพื่อให้ง่ายต่อการจดจำของเจ้าหน้าที่และเข้ามาช่วยเหลือได้ทันท่วงที หากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน

Aging Society | รศ.ไตรรัตน์ จารุทัศน์ หัวหน้าภาควิชาเคหการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มาตอกย้ำการขยายตัวของสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งนำไปสู่งานออกแบบและการเติบโตของธุรกิจเฮลธ์แคร์ในที่อยู่อาศัย รวมถึงในไทยที่มีตัวอย่างโครงการเพื่อผู้สูงวัยเกิดขึ้นอย่างมากมาย แถมได้รับการตอบรับอย่างดีชนิดที่ว่ามีเวทติ้งลิสต์ตั้งแต่โครงการยังไม่สร้าง

สำหรับอัตราของผู้สูงอายุ ในปี 2017 ผู้สูงอายุจะครองโลก เนื่องจากอัตราการเพิ่มของผู้สูงอายุมากกว่าเด็กทั่วทั้งโลก และในปี 2050 โครงสร้างทางสังคมจะเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยทั่วทั้งโลก ทั้งนี้ไทยจะมีประชากรอายุมากกว่า 60 ปี ถึง 10-20% ในปีพ.ศ. 2546-2568

“ผู้สูงวัยจะมีความภักดีกับสินค้า ขอเพียงเข้าไปอยู่ในใจเขาได้ เขาไม่เพียงภักดีแต่จะกลายเป็นสาวกที่ช่วยบอกต่อให้เราด้วย และต่อไปทุกโครงการจะสำเร็จได้ต้องอาศัย Universal Design เพราะ Universal Design สามารถใช้ได้กับคนทุกกลุ่มทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ ผู้พิการ ถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า” รศ.ไตรรัตน์ เผยถึงคีย์ความสำเร็จของการบุกตลาดผู้สูงวัย

Technology driven new real estate business model | ผศ.ดร.พร วิรุฬห์รักษ์ อุปนายกสมาคม Building Information Modeling แห่งประเทศไทย (TBIM) มาชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ของเทคโนโลยี BIM (Building Information Modeling) ว่า BIM จะกลายเป็นเทคโนโลยีที่มาปฏิวัติการทำงานก่อสร้าง โดยชี้เป้าให้เห็นว่า ความเสี่ยงในการพัฒนาต้นทุนที่สำคัญของงานอสังหา คือ ‘แบบ’ แต่ที่ผ่านมาหลายครั้งแบบที่เขียนขึ้นกลับไม่ตรงกับหน้างานจริง การแก้ปัญหาทุกอย่างจึงไปตกอยู่กับผู้รับเหมา แต่ถ้าสามารถวางแผนและแก้ไขกันได้ตั้งแต่ต้น โดยนำเทคโนโลยี BIM เข้ามาช่วย จะให้ทำให้เกิดการวางแผนที่ถูกต้องตั้งแต่ต้นทาง ลดเวลาทำงาน ลดความเสี่ยงที่คาดว่าจะเกิดขึ้น เกิดความเข้าใจชัดเจนตรงกันทุกฝ่ายในกระบวนการทำงาน และที่สำคัญจะทำให้ลดเนื้องานหลายอย่างโดยไม่จำเป็น ช่วยลดต้นทุนที่คาดไม่ถึง

            “การบริหารสินทรัพย์โครงการเพื่อให้เกิดกำไรสูงสุด ผู้พัฒนาอสังหามักมองไปที่การลดต้นทุน เราอาจจะซื้อบุคลากร ซื้อเทคโนโลยี เข้ามาช่วยได้ แต่สิ่งที่เราซื้อไม่ได้คือกระบวนการ ดังนั้นถ้าใครไปถึงจุดนั้นก่อน คุณก็จะได้ไปก่อน”

GROUP TALK : การบริหารแบรนด์ให้รอดพ้นวิกฤต

(Effective brand management during crisis)


ปีนี้ถือเป็นปีพิเศษที่ทาง TerraHint Brand Series 2020 จัด GROUP TALK ถึง 2 รอบ โดยนอกจากประเด็นร้อนอย่าง The Next Normal in Real Estate แล้ว อีกหัวข้อที่ไม่พูดถึงไม่ได้ คือ การปั้นแบรนด์ โดยครั้งนี้มาในหัวข้อ  ‘การบริหารแบรนด์ให้รอดพ้นวิกฤต’  โดยได้รับเกียรติ 4 กูรูมาแชร์ประสบการณ์เชิงลึก ที่นี่

คุณภารไดย ธีระธาดา นักสร้างแบรนด์องค์กรชั้นนำ (Personal and Corporate Brand Strategist)

มาเผยกุญแจสำคัญของการสร้างแบรนด์ ที่ในที่สุดแล้วอยู่บนพื้นฐานของการสร้างคุณค่า และเชื่อมโยงคุณค่าที่มีความหมายต่อผู้บริโภค เน้นการสร้างประสบการณ์ โดยเฉพาะการสร้างความน่าเชื่อถือ โดยยกตัวอย่างกรณีศึกษาแบรนด์ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือรู้จักทุกวันนี้ในชื่อ TMB ที่สื่อสารให้คนเชื่อมั่นในพลังตัวเอง ผ่านแนวคิด "Make THE Difference" ในภาพยนตร์โฆษณาจากประสบการณ์ของ “ทีมฟุตบอลปันหยี" ที่พิสูจน์ความเชื่อในตัวเองจนประสบความสำเร็จ (https://www.youtube.com/watch?v=PIVcSbBhK-Y)

แม้ภาพยนตร์โฆษณาชุดนี้ จะผ่านมานานกว่าเกือบ 10 ปีแล้ว แต่แก่นการสื่อสารยังคงเป็นตัวอย่างที่ดีของการสร้างคุณค่าแบรนด์ที่มีต่อผู้คน นอกจากนี้การปรับตัวของแบรนด์ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) มาสู่การเป็น TMB ก็ยังคงเป็นแนวทางที่ดีของการรีแบรนด์ดิ้งให้ยังคงทันสมัยและอยู่ในใจของผู้บริโภคยุคใหม่

“มีความน่าเชื่อถือ ชัดเจน มีจุดยืน และต้องเข้าไปอยู่ในใจผู้บริโภค” คีย์เวิร์คสำคัญของการบริหารแบรนด์ในสไตล์ภารไดย

คุณภารุจ  ดาวราย กรรมการผู้จัดการ ดิจิทาซ ประเทศไทย ดิจิทัล (Digitas, the Connected Marketing Agency)

ที่มาเผยให้เห็นการสื่อสารของแบรนด์ไปสู่ผู้บริโภคช่วงวิกฤต คือ ต้องทำให้แบรนด์ใกล้ชิดกับผู้บริโภค แบรนด์ต้องเข้าไปอยู่ในโมเมนต์ที่เป็นปัญหาของผู้คน โดยยกตัวอย่างแคมเปญ #ร้านข้างทางต้องอยู่ข้างกัน ของธนาคารกรุงไทย แคมเปญที่ช่วยเหลือร้านข้างทางให้มีพื้นที่บนโลกโซเชียล หยิบยื่นความช่วยเหลือในช่วงเวลาที่คนกลุ่มนี้ลำบากในจุดที่แบรนด์ทำได้ นี่คือตัวอย่างหนึ่งของการพาแบรนด์เข้าไปอยู่ในใจผู้บริโภคในช่วงวิกฤต

“พฤติกรรมบางอย่างที่เกิดขึ้น เช่น ความนิยมใน Netflix หรือ Tiktok เป็นสื่อสะท้อนวิถีชีวิตของคน มันเหมือนเป็นการแย่งเวลาของผู้บริโภค แต่นั่นเพราะสื่อเหล่านี้ใกล้ชิดและอยู่ใกล้พวกเขาในช่วงวิกฤติ (หมายถึงช่วงกักตัวออกไปไหนไม่ได้) เราจึงต้องเรียนรู้การทำงานแบบใหม่ด้วยแบบ date to date”


ดร.อาภาภัทร บุญรอด ประธานกรรมการบริหาร คันทาร์ อินไซท์ ประเทศไทย (KANTAR Thailand) บริษัทผู้นำการวิจัยด้านข้อมูลเชิงลึกและที่ปรึกษาทางการตลาดระดับโลก

“หลังโควิด-19 พื้นฐานความต้องการของผู้บริโภคไม่ได้เปลี่ยนไป แต่พอถึง New Normal คือ การนำพฤติกรรมใหม่มาเชื่อมโยงกับพฤติกรรมเก่า ผู้คนยังอยากซื้อของมีคุณภาพ ต้องการความสุขในการใช้ชีวิต เพียงแต่นิยามมันเปลี่ยนไป”

ทั้งนี้ ดร.อาภาภัทร นำผลวิจัยโดยคันทาร์มาชี้ให้เห็นว่า “Covid-19 is a pandemic that changes our life” ซึ่งแม้โควิด-19 จะผ่านไป แต่พฤติกรรมที่เปลี่ยนไปจะยังคงอยู่ โดยผลวิจัยมีส่วนสอดคล้องกับผลวิจัย “Customer insight on real estate after covid-19” ของ TerraResearch

“การมาถึงของโควิด-19 มีหลายสิ่งที่ตามมา หลักๆ คือ ปัญหาสุขภาพจิต นั่นทำให้ 1.ผู้คนหันมาใช้สื่อออนไลน์เยียวยาจิตใจ 2.ผู้บริโภคกลายเป็นนักเรียน คนไทยเปลี่ยนวิธีหาความรู้ เพราะเกิดความไม่แน่ใจในชีวิตและจิตใจ จึงใช้สื่อออนไลน์ในการหาความรู้เพิ่มขึ้น 3.เกิด Micro-Entrepreneurs หันมาทำธุรกิจเล็กๆ ของตัวเอง 4.ผู้บริโภคกลายเป็นครีเอเตอร์ ออกมาแชร์ สร้างเนื้อหา 5.ผู้บริโภคใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น”

เมื่อผู้บริโภคเปลี่ยน ดังนั้นแบรนด์ที่มีศักยภาพและมีพลังจึงต้องปรับตัว โดย ดร.อาภาภัทร สรุปมาแล้วว่า 1.แบรนด์ต้องมีคุณค่ากับผู้บริโภค สามารถตอบโจทย์บางอย่างผู้บริโภคได้ 2.โดดเด่นและแตกต่าง 3.ต้องเป็นแบรนด์แรกที่ผู้บริโภคนึกถึง เพราะสิ่งที่ตามมาคือมาร์เก็ตแชร์และผลกำไร

“มีความเชื่อมโยงอย่างชัดเจนของแบรนด์ที่มีพลังและมีคุณค่าจะมีผลการเติบโตมากกว่าแบรนด์คู่แข่ง ยกตัวอย่าง amazon คือเขามีทั้งคุณค่าและครีเอทีฟ นั่นทำให้เขาเป็นแบรนด์อันดับหนึ่งของโกลเบิลแบรนด์ลิสต์ และที่น่าสนใจ คือ หลังโควิด-19 มีแบรนด์จีนติดอันดับโกลเบิลแบรนด์ลิสต์ ถึง 17 แบรนด์ อาทิ คือ Tiktok, Moutai แสดงให้เห็นแบรนด์จีนเหล่านี้มีคุณค่าและตอบโจทย์บางอย่างผู้บริโภคได้”

ทั้งนี้ปัจจัยสำคัญที่แบรนด์อยากแข็งแรงต้องมี คือ ความน่าเชื่อถือ ยกตัวอย่างเฟสบุ๊คที่ช่วงหนึ่งยอดตก เพราะขาดความน่าเชื่อถือในประเด็นที่มีข้อมูลส่วนตัวรั่วไหล แต่เนื่องจากเป็นแบรนด์ใหญ่จึงมีการปรับตัวได้ทันและเรียกความเชื่อมั่นกลับมาได้

เมื่อเกิดวิกฤตแบรนด์ใช้โอกาสจากวิกฤตนั้นอย่างไร อย่างกรณีศึกษาช่วงโควิด-19 ผู้บริโภคเกินกว่า 50% ต้องการแบรนด์ที่ช่วยกู้ชีวิต ยกตัวอย่างกสิกรมีการช่วยเหลือพนักงานในชุมชน, เชลล์แจกเจลล้างมือ, Kerry Express ออกกล่อง social distancing, แมคโดนัลด์ ออกแบบโลโก้ที่สื่อถึง social distancing ตัวอย่างเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าแบรนด์ต้องเข้าใจโมเมนต์และความรู้สึกของผู้บริโภค

“Brand Equity (คุณค่าของแบรนด์) สร้างได้ เพียงแต่ต้องใช้เวลาและต้องชัดเจน สำคัญคือเราต้องรู้จักใช้เทคโนโลยีสร้างแบรนด์ให้มีตัวตน สร้างคุณค่า สร้างความเป็นมนุษย์ให้กับแบรนด์”

นพปฎล พหลโยธิน ประธานผู้บริหารฝ่ายสร้างสรรค์คนแรกของบริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน)

ในฐานะตัวแทนองค์กรที่ได้รับรางวัล Brand Powerful Band 2020

เผยถึงเบื้องหลังความสำเร็จนี้ว่า สิ่งที่แสนสิริทำ คือ ต้องทำตัวให้จับต้องได้ และน่าเชื่อถือ เพราะสำหรับผู้บริโภคไม่ใช่แค่การซื้อบ้าน แต่คือการฝากชีวิต ที่สำคัญคือ การรู้จักปรับตัวก่อนและการดูแลกันและกัน

“การสร้างแบรนด์ช่วงโควิด-19 เรา Make for Life เราเริ่มมี WFH มีการดูแลพนักงาน และพนักงานก็สื่อสิ่งเหล่านี้ต่อไปถึงลูกค้า ซึ่งลูกค้าสามารถรู้สึกได้”

“แสนสิริสู้มาตั้งแต่ก่อนจะเกิดโควิด-19 เรายอมรับว่าอะไรไม่จำเป็น เราตัดออกตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อระดมเงินสดเข้ามาเพื่อให้องค์กรอยู่ได้ ขณะเดียวกันเราคิดถึงใจเขาใจเรา จับชีพจรตลาดมาก่อน อย่างช่วงวิกฤตตลาดงาน ผู้บริโภคอาจจะรู้สึกว่าตอนนี้ไม่มีงานแล้วฉันจะไม่มีบ้านด้วยเหรอ ซึ่งเราก็พยายามทำให้คนมีบ้านให้ได้”

เนื่องจากดิจิตอลดิสรัปชั่นทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนฉับพลัน ภายในเวลาล็อคดาวน์ 3 สัปดาห์ อัตราการใช้ออนไลน์เท่ากับการใช้งาน 5 ปี จากตัวเลขนี้จึงทำให้แสนสิริหันมาโฟกัสช่องทางนี้โดยเฉพาะ

“ความจริงไม่ใช่แค่เราใส่ใจเรื่องนี้เท่านั้น แต่เพราะตอนนั้นเราไม่มีงบด้วย จึงมุ่งดิจิตอลเต็มตัว ทีมงานทุ่มเทไอเดีย บางชิ้นงานถ่ายด้วยมือถือด้วยซ้ำ เรียกว่าเราโกคอมเมอร์เชียล เพราะเราไม่มองแค่ตัวเองเป็นแบรนด์หรู”

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของประสบการณ์ความรู้จากงาน TerraHint Brand Series 2020 : LEADING THE BRAND THROUGH CRISIS ซึ่งหวังอย่างยิ่งว่าไอเดียเหล่านี้จะช่วยจุดประกายและช่วยพาธุรกิจรอดพ้นวิกฤตนี้ไปได้ไม่มากก็น้อย

โดยคุณสุมิตรา กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า

“ณ เวลานี้ อสังหาริมทรัพย์ คือ ทรัพย์สินปลอดภัยในความรู้สึกของผู้บริโภค

และ แบรนด์อสังหาริมทรัพย์ คือ มูลค่าเพิ่มในอนาคต

ที่บริษัทไม่มีแบรนด์ จะสู้ไม่ได้”

เฉกเช่น คำกล่าวของ มหาเศรษฐีด้านการลงทุนของโลก Werren Buffet