"ความขี้เกียจ" มีคำศัพท์สวย ๆ ที่เรียกกันในวงการนักจิตวิทยาว่า Low Motivation คือ ภาวะที่จิตใจ มีแรงจูงใจต่ำ จนทำให้ร่างกายไม่อยากทำอะไร แล้วลองสังเกตดูนะคะ พอถึงฤดูหนาว ใกล้เทศกาลปีใหม่ วันหยุดยาวเยอะ ๆ ความขี้เกียจเลยโตเอา ๆ ซึ่งขี้เกียจหนักไปคงไม่ดีกับหน้าที่การงาน และความสัมพันธ์กับคนในบ้านแน่นอนค่ะ เพราะฉะนั้น ผู้เขียนจึงขอแนะนำ "6 วิธีกำจัดความขี้เกียจตามแบบฉบับของนักจิตวิทยา" กันค่ะ แต่ละวิธีเป็นยังไงกันบ้างมาดูกันเลย

1.ตั้งเป้าหมายระยะสั้นในแต่ละวัน

บางครั้งการที่เรา "ขี้เกียจ" อาจเป็นเพราะเราไม่รู้ว่าวันๆหนึ่งเราต้องทำอะไรบ้าง ยิ่งมีวันหยุดยาว ๆ พอกลับมาทำงาน เจ้าความ "ขี้เกียจ" ก็ตามติดมาด้วย เลยเกิดปัญหางานไม่เดิน เพื่อนไม่รัก เจ้านายเขม่นไปอีก ดังนั้นวิธีแก้ความขี้เกียจที่จะแนะนำวิธีแรก ก็คือ Set goal หรือตั้งเป้าหมายให้ชีวิตค่ะ และเพื่อให้จิตใจสดชื่นสดใสแบบรวดเร็ว ก็ต้องหมั่นตั้งเป้าหมายระยะสั้น อาจจะเป็นรายวันว่าวันนี้ต้องทำงานอะไรให้เสร็จบ้าง หรือราย Mission ว่างานต้องออกมามีคุณภาพระดับไหน หรืองานที่ทำต้องถูกขับเคลื่อนไปถึงระดับไหนในแต่ละวัน พอเป้าหมายเราสำเร็จได้ เราก็จะมีกำลังใจในการทำเรื่องอื่น ๆ ที่ใหญ่ขึ้นต่อได้ และร่างกายก็พร้อมจะลุยกับทุกสิ่งตามไปด้วยค่ะ

เคล็ดลับเพิ่มเติม อย่าเริ่มด้วยการตั้งเป้าหมายที่ใหญ่และยากเกินไป เพราะถ้าไม่สำเร็จจะยิ่งท้อ ยิ่งไม่อยากทำอะไรค่ะ

 

2.ให้รางวัลตัวเองเมื่องานสำเร็จ

ถึงแม้ว่าเราจะขี้เกียจขนาดไหน แต่เชื่อเถอะค่ะว่าเรายังมีเรื่องขยันอยู่ 2 เรื่อง คือ กินกับนอน ดังนั้นเพื่อกำจัดความขี้เกียจให้หลุดไป เราต้องใช้เรื่องที่เราขยันมาเป็นแรงจูงใจให้เราทำสิ่งต่าง ๆ โดยการตั้งเรื่องที่เราชอบ เช่น เรื่องกินและเรื่องนอนเป็นรางวัลเมื่อเราทำ Mission ได้สำเร็จ เช่น หากผู้เขียนตั้งเป้าไว้ว่า วันนี้จะเขียนบทความจิตวิทยาให้เสร็จ 1 บทความ และกำหนดรางวัลไว้ว่า "กินหมูกระทะ" ตอนที่ผู้เขียนเขียนบทความ    ภาพหมูย่างก็จะลอยมาในหัวพร้อมกลิ่นหอม รสสัมผัสนัวๆในปากแล้วมันช่างทำให้ไฟในการเขียนบทความลุกโชนได้ดีจริง ๆ เลยค่ะ เพราะฉะนั้นแล้วหากเรามีรางวัลให้กับความสำเร็จ มันจะยิ่งทำให้เรามีไฟ มีแรงจูงใจในการทำงานเพื่อให้ได้รางวัลนั้น ๆ มาค่ะ

เคล็ดลับเพิ่มเติม นอกจากเรื่องกินกับนอนแล้ว รางวัลที่นิยมใช้เพื่อสร้างแรงจูงใจกันมาก มักเป็นสิ่งของที่เราเองอยากได้ค่ะ หาก Mission ยิ่งยาก รางวัลก็ควรจะยิ่งแพง แบบนี้เป็นต้นค่ะ

 

3. หา Idol ในการทำงาน

การกำจัดความขี้เกียจโดยการมองหาต้นแบบ (Role model) ก็เป็นวิธีหนึ่งที่ดีไม่น้อยเลยค่ะ เพราะการที่เรามี  Idol ในการทำงานจะยิ่งทำให้เรามีไฟที่จะพัฒนาตัวเอง  พัฒนางานจนสามารถประสบความสำเร็จได้เหมือน Idol ของเรา ซึ่ง Idol ของเราจะเป็นใครก็ได้ค่ะ  ทั้งคนดังระดับโลก หรือเจ้านาย  หรือเพื่อนร่วมงาน  หรือคุณพ่อ  คุณแม่ของเราท่านก็เป็น  Idol ให้เราได้ แล้วยิ่ง Idol ใกล้ชิดกับเรามากเท่าไหร่  เราก็ยิ่งมีไฟ มีกำลังใจที่จะทำสิ่งต่าง ๆ ให้สำเร็จเหมือน Idol ของเราค่ะ

4. หาบัดดี้ หรือหาเพื่อนในการทำงาน

ถ้าการทำงานคนเดียวไม่ได้ช่วยทำให้ความขี้เกียจหมดไป ขอแนะนำให้คุณผู้อ่านหาบัดดี้มาเป็นเพื่อนคู่หูในการทำงานค่ะ แต่เพื่อนคนนี้ต้องเลือกหน่อยนะคะ แบบพากันกิน พากันนอน พากันช๊อปปิ้งออนไลน์ก็คงไม่เวิร์คแน่ ต้องหาแบบจริงจัง ขยัน ตั้งใจ พูดง่าย ๆ หาคนมาคุมเราทำงานนั่นละค่ะ แล้วเราจะถูกเพื่อนบังคับให้ทำงานด้วยความขยันเอง แต่ถ้าหากเพื่อนในสต๊อกมีน้อย ก็อย่ากระนั้นเลย มาชวนเพื่อนในแผนกเดียวกันทำงานเป็นทีมเสียเลย ถ้าขี้เกียจหนักก็แบ่งงานกันทำค่ะ เพราะอย่างน้อยทำคนละนิดคนละหน่อยงานก็จะสำเร็จได้ ดีกว่าทำคนเดียวแล้วไม่เสร็จละกันเนาะ

แต่ถ้าคุณผู้อ่านติดปัญหาว่าไม่ค่อยถูกจริตกับเพื่อนร่วมงาน ต้องบอกเลยว่านี่เป็นโอกาสดีแล้วที่จะทำให้เราทำงานให้เสร็จอย่างรวดเร็ว เพราะถ้าเราทำงานกับคนที่ไม่ชอบ แน่นอนค่ะว่าเราไม่อยากใช้เวลาร่วมกับเขานาน เราจะมีไฟขึ้นมาโดยทันทีเพื่อทำงานให้เสร็จเร็วที่สุด แล้วความขี้เกียจก็จะหายไปเองในทันใดเลยละค่ะ

 

5.วาดภาพของคนที่อยากจะเป็นไว้ แล้วไปให้ถึง

วิธีนี้จะเป็นขั้น Advance ของการตั้งเป้าหมายในระยะสั้น รวมกับการหา Idol ในการทำงานค่ะ แต่เปลี่ยนเป็นวาดภาพของเราให้เหมือน Idol ที่เราอยากจะเป็นแล้วตั้งเป้าหมายการทำงานในระยะยาวไปเลยว่าใน 1 ปี เราจะต้องสำเร็จในระดับไหน อีก 3 ปีเราต้องสำเร็จไปถึงขั้นไหน อีก 5 ปี 10 หรือวันที่เราเกษียณ     เราจะสามารถไปยืนอยู่ในจุดไหน เช่น ตัวผู้เขียนเองตั้งเป้าหมายระยะไกลไว้ว่า “จะเกษียณที่ C10” พอเรามีเป้าหมายระยะไกล ผู้เขียนก็ทอนลงมาว่าอายุ 32 (คือปีหน้า) ต้องเลื่อนระดับไปที่ C7 แล้วอีก 10 ปี คืออายุ 42 ต้องสอบ C 8 อีก 10 คือ อายุ 52 ต้องสอบ C9 ถึงจะมีโอกาสไปถึง C10 ได้ในวัยเกษียณค่ะ หากคุณผู้อ่านตั้งเป้าจริงจังในระยะยาวแล้ว ลองมาวางแผนที่ชีวิตกันดูนะคะว่าเราจะต้องเดินไปในเส้นทางไหน เพื่อให้สำเร็จในแต่ละขั้น พอเรามีเป้าหมายแบบนี้แล้ว เราจะมีแบบแผนในการทำงาน รับรองเลยว่าความขี้เกียจก็จะหายไป โอกาสที่จะเดินทางไปถึงเป้าหมายสูงแน่นอนค่ะ 

 

6.หาโอกาสเรียนรู้โลก เพิ่มเติมไฟในการทำงาน

ถ้าหากยิ่งทำงานยิ่งหมดไฟ ยิ่งหาอะไรทำยิ่งขี้เกียจ ขอให้คุณผู้อ่านลองลาหยุดยาวไปเที่ยวต่างจังหวัด หรือไปเที่ยวต่างประเทศดูค่ะ รับรองเลยว่าถ้าเราได้พักผ่อน ได้ไปเปิดหูเปิดตา ได้อยู่กับตัวเอง ได้สัมผัสบรรยากาศที่ทำให้เราเกิดความคิดสร้างสรรค์ ไฟในการทำงานจะลุกขึ้นมาใหม่แน่นอน เพราะบ่อยครั้งความขี้เกียจก็เป็นผลมาจากที่เราขยันเกินไปจนร่างกายและจิตใจไม่ได้พักผ่อนนั่นเองค่ะ เพราะฉะนั้น การออกไปเที่ยว พาชีวิตไปเจออะไรใหม่ ๆ บ้าง ก็เป็นวิธีแก้ความขี้เกียจ ความเบื่อ หรืออาการ Burn out ได้อย่างดีทีเดียวค่ะ

"ความขี้เกียจ" ไม่ใช่เรื่องที่เราจัดการไม่ได้ หากความขี้เกียจมีน้อยๆ ก็ยังพอช่วยรีแลกซ์ความเครียดได้บ้าง แต่ถ้า “ขี้เกียจ” หนักไปคงไม่ดีแน่ ดังนั้น เราต้องรีบกำจัดความขี้เกียจให้เร็วที่สุดเพื่อความก้าวหน้าของตัวเราเอง ผู้เขียนเลยหวังว่า "6 เคล็ดลับกำจัดความขี้เกียจตามแบบฉบับของนักจิตวิทยา" ที่ได้แนะนำไปจะช่วยเติมไฟให้คุณผู้อ่านได้นะคะ 

 

SOURCE : www.istrong.co