World Economic Forum ได้จัดอันดับความสามารถทางการแข่งขันระดับโลก โดยมีด้วยกัน 141 ประเทศ ซึ่งพบว่าในปี 2019 คงามสามารถทางการแข่งขันของประเทศไทยลดลง จากอันดับที่ 38 สู่อันดับที่ 40 ปัจจัยหนึ่งด้านที่เป็นตัวฉุดรั้งให้อันดับของประเทศไทยตกลง มาจากคะแนนด้านการเรียนการสอนของไทยที่มีการฝึก Critical Thinking ต่ำที่สุด โดยคะแนนเต็ม 100 คะแนน ได้คะแนนเพียง 37 คะแนนเท่านั้น

Critical Thinking สำคัญแค่ไหนในโลกตลาดแรงงานปัจจุบัน

            ในประเทศออสเตรเลีย มีการจัดผลสำรวจเกี่ยวกับความต้องการแรงงานที่มีทักษะ Critical Thinking โดย Foundation for Yong Australians พบว่าในระหว่างปี 2012 – 2015 บัณฑิตจบใหม่ในออสเตรเลียถูกคาดหวังให้มีทักษะ Critical Thinking ถึง 158% นอกจากนั้นเมื่อพูดถึงด้านค่าตอบแทน พบว่านายจ้างยินดีจ่ายค่าจ้างเพิ่มขึ้นถึง 7,745 ดอลลาร์ออสเตรเลีย สำหรับการจ้างงานแรงงานที่มีทักษะ Critical Thinking ซึ่งเป็นค่าจ้างสำหรับทักษะพิเศษที่สูงกว่าทักษะ ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) หรือ ทักษะการเขียนภาษาทางการเงิน (Financial Literacy) เสียอีก คำถามต่อมาคือ แล้วทักษะ Critical Thinking นั้นคืออะไร? สำคัญแค่ไหนในยุคปัจจุบัน?

            World Economic Forum ได้ทำการสำรวจมาแล้วว่าเป็นหนึ่งในทักษะที่สำคัญมากในศตวรรษที่ 21 จากทั้งหมด 16 ทักษะ ได้แก่ ทักษะด้านการปฏิสัมพันธ์ (Foundation Literacies) 6 ด้าน ทักษะด้านการจัดการปัญหา (Competencies) 4 ด้าน และ ทักษะด้านการจัดการตัวเอง (Character Qualities) 6 ด้าน

            โดย ทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ หรือ Critical Thinking ได้ถูกจัดอยู่ในทักษะการจัดการปัญหา ร่วมกับทักษะความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) ทักษะการสื่อสาร (Communication) และ ทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น (Collaboration) โดยเรียกกลุ่มทักษะนี้ว่า 4cs 21st Century Skill ซึ่งเป็นทักษะพื้นฐานที่ทุกองค์กรต้องการ

            Critical Thinking หรือ การคิดเชิงวิพากษ์ เป็นความสามารถในการคิด วิเคราะห์ พิจารณา ประเมินและตัดสินใจข้อมูลที่ได้รับอย่างเป็นเหตุเป็นผล โดยมีพื้นฐานมาจากผลงานของ Benjamin Bloom (1956) โดยเป็นการจัดหมวดหมูพฤติกรรมการเรียนรู้ด้านสติปัญญา โดยแบ่งออกเป็น 6 ระดับ ได้แก่ ความรู้ ความเข้าใจ การประยุกต์ใช้ การวิเคราะห์ การสังเคราะห์ และการประเมิน โดยรวมแล้วทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ หรือ Critical Thinking คือกระบวนการคิดวิเคราะห์และแยกแยะข้อมูลอย่างเป็นระบบ โดยไม่เอาความรู้สึกหรือความเชื่อส่วนตัวมาปะปน ทำให้เป็นทักษะที่สำคัญในด้านการตัดสินใจ โดยเฉพาะในยุคที่ข้อมูลมากมาย ถูกลำเลียงมาสู่สายตาเราอย่างง่ายดาย

สังคมไทย: การมี Critical Thinking จะช่วยให้พ้นจาก Fake news

            ในยุคที่ข้อมูลมหาศาลต่างถูกประเคนมาตรงหน้า รอแค่เพียงเราหยิบจับเพื่อป้อนเข้าสู่สมอง จะทำอย่างไรให้ข้อมูลที่ไม่ได้ถูกคัดกรองเหล่านั้น ถูกป้อนเข้าสู่สมองเราได้อย่างมีประสิทธิภาพและตรงตามความเป็นจริง ทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ ( Critical Thinking ) คือทักษะที่เข้ามาช่วยในจุดนี้

            ผลสำรวจจาก Massachusetts Institute of Technology (MIT) ได้ระบุว่ามีข่าวปลอมถึง 70% ที่ถูก retweet (คล้ายๆกับการโพสซ้ำ) ในทวิตเตอร์ โดยอ้างอิงจากข่าวสาร 126,000 ชิ้น จำนวน 4.5 ล้านครั้ง จากผู้ใช้ทวิตเตอร์กว่า 3 ล้านบัญชี นอกจากนั้นผลสำรวจยังชี้ให้เห็นข้อมูลที่น่าตกใจอีกอย่างหนึ่งว่า ข่าวจริงนั้นต้องใช้เวลาถึง 6 เท่า เพื่อเข้าถึงผู้ใช้จำนวน 1,500 บัญชี

            สำหรับประเทศไทยเอง สำนักสงเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ (สสส.) ได้เคยออกมาเปิดเผยสถิติการสื่อสารที่สร้างความเกลียดชังและปลุกปั่น (Fake news & Hate speech) พบว่าระดับความรุนแรงของการสื่อสารดังกล่าวบนแพลตฟอร์มต่างๆ ผ่าน YouTube มีถึง 78.5% เว็บบอร์ด 53% Facebook 37.6% โดยแต่ละแพลตฟอร์มเหล่านี้ ส่งผลกระทบต่อเยาวชนสูงถึง 42%

 

ฝึกตัวเองอย่างไรให้เป็น Critical Thinker

            การฝึกทักษะ การคิดเชิงวิพากษ์ หรือ Critical Thinking คล้ายคลึงกับ การคิดแบบวิทยาศาสตร์ (Scientific thinking) ซึ่งเป็นการไม่ยอมเชื่อโดยปราศจากหลักฐาน หรือการหาข้อเท็จจริงมาหักล้างสมมติฐาน จุดร่วมที่เหมือนกันของทั้งสองทักษะนี้คือ การตั้งข้อสังเกตและการตั้งคำถาม ซึ่งจะเป็นการต่อยอดไปสู่การวิเคราะห์ การประเมินข้อมูล การเปรียบเทียบ การสรุปผล และนำไปสู่การตัดสินใจที่แม่นยำ

  • การตั้งคำถาม – เริ่มมองจากจุดเริ่มต้นของข้อมูลและปัญหาที่ต้องการข้อสรุป
  • รวบรวมข้อมูล – หาสิ่งมาหักล้างสมมติฐาน รวมถึงการประกอบข้อมูลในด้านอื่นๆ เพื่อมองหาความจริง
  • การตีความและวิเคราะห์ข้อมูล - คือการนำข้อมูลที่มีในมือ พิจารณาให้ครบทุกด้าน มองหาหลักฐานที่จับต้องได้ที่ไม่ใช่การคาดเดามาตีความข้อมูล
  • พิจารณาปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง – สิ่งที่อาจจะเป็นผลนอกเหนือจากที่มีอยู่ในข้อมูลในมือ เพื่อมองหาและประเมินผลกระทบ

            สุดท้ายนี้ทักษะ การคิดเชิงวิพากษ์ ไม่ต่างอะไรกับการคิดอย่างมีวิจารณญาณในสมัยก่อน เพียงแต่ในยุคดิจิตอล ที่เมื่อเราได้รับสารมา ข้อมูลที่ได้ก็อาจจะเป็นข้อมูลเกินความจริงไปแล้ว การฝึกทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ จะทำให้เราไม่เชื่ออะไรง่ายๆ มีการตั้งคำถาม นำไปสู่การเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้องตามความเป็นจริง นำไปสู่การประเมิน การแก้ไขปัญหา และการตัดสินใจที่แม่นยำ