ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ไตรมาส 2 คาดการณ์ติดลบ 50%  จากไตรมาส 1 ดังนั้นไตรมาสนี้ คือ ไตรมาสของการปรับรื้อทั้งระบบแบบ Re-engineering ทั้ง โครงสร้างต้นทุน  คุณภาพ การบริการ และการส่งมอบบ้าน เพื่อช่วยเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินเพื่อให้รักษาองค์กรให้ผ่านพ้น วิกฤต Covid-19 ในปี 2563 นี้ไปให้ได้

 

 

ภาพรวมการเปิดตัวโครงการใหม่ในไตรมาส 1 ปี 2563 มีจำนวนยูนิตรวม 19,000 หน่วย และในไตรมาส 2 คาดการณ์เปิดตัวใหม่เพียง 9,500 หน่วย หรือลดลงอีก 50%

            คอนโดมิเนียมกรุงเทพและปริมณฑลไตรมาสแรก มีการเปิดตัวทั้งหมด 15,000 หน่วย ราคาเฉลี่ย 78,000 บาทต่อตารางเมตร ราคาขายลดลงถึงร้อยละ 12 จากปี 2562 เปิดตัวมากที่สุดทำเลทำเลสุขุมวิท-เอกมัย ร้อยละ 22, รองลงมาคือ จตุจักร-ประชาชื่น-รัตนาธิเศน์ ร้อยละ 15และในไตรมาส 2 คาดการณ์เปิดตัวลดลงอีกร้อยละ 50 (7,500 หน่วย)

            โครงการแนวราบ(บ้านเดี่ยว ทาวน์โฮม บ้านแฝด และอาคารพาณิชย์) กรุงเทพและปริมณฑล ไตรมาสแรก มีการเปิดตัวทั้งหมด 4,000 หน่วย ราคาเฉลี่ย 3 ล้านบาทต่อยูนิต ราคาขายลดลงถึงร้อยละ 20 จากปี 2562 เปิดตัวมากที่สุดทำเลสะพานสูง-มีนบุรี-ลาดกระบัง ร้อยละ 25, รองลงมาคือทำเลนนทบุรี ร้อยละ 18 และในไตรมาส 2 คาดการณ์เปิดตัวลดลงร้อยละ 50 (2,000 หน่วย)

 ข้อมูลจาก TERRABYTE

การเปิดตัวโครงการใหม่ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในไตรมาส 1

ผู้ครองแชมป์การเปิดตัวคอนโดมิเนียม อันดับ 1 คือ บมจ.ศุภาลัย จำนวน 1,036 ยูนิต, อันดับ 2 คือ บมจ.พฤกษา จำนวน 834 ยูนิต และอันดับ 3 คือ บมจ.แอลพีเอ็น จำนวน 710 ยูนิต 

ผู้ครองแชมป์การเปิดตัวแนวราบ อันดับ 1 คือ บมจ.แลนด์แอน์เฮ้าส์ จำนวน 806 หน่วย,อันดับ 2 บมจ. เอพี จำนวน 684 หน่วย และอันดับ 3 บมจ.ควอลิตี้เฮ้าส์ จำนวน  320 หน่วย

 ข้อมูลจาก TERRABYTE

            จากสถานการณ์โควิด ที่ยังคงต้องคอยลุ้นให้เข้าสู่ประมาณการผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 20 ซึ่งเป็นอัตราที่สาธารณะสุขการแพทย์ของไทยเรายังสามารถรับไหว ซึ่งหากอยู่ในสมมุติฐานที่ไทยเรารับไหวนี้ สำหรับภาพรวมทั้งปี 2563 คาดการณ์ที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียนกรุงเทพและปริมณฑลติดลบ 30% หรือ มีจำนวนหน่วยที่อยู่อาศัยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์รวมทั้งคอนโดมิเนียมและแนวรามจำนวน 78,000 ยูนิต

            ในสถานการณ์นี้ผู้ประกอบการต้องปรับตัวเพื่อให้อยู่รอด เพราะจากการคาดการณ์ เมื่อผลประกอบการติดลบสูงถึงร้อยละ 30 สำหรับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์นั้น ถือว่ามีความเสี่ยงสูงสุดแล้ว เพราะกำไรขั้นต้นโดยเฉลี่ยของธุรกิจนี้อยู่ที่ ร้อยละ30-35 และกำไรสุทธิอยู่ที่ร้อยละ 10-15  นั่นหมายความว่าการทำงานของปีนี้ทั้งปีหากไม่มีการปรับองค์กรภายในด้านต้นทุนการบริหารและการขาย ผลการดำเนินงานในปีนี้ก็จะขาดทุนสุทธิโดยประมาณร้อยละ 15 นั่นเอง หากเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ก็ยังสามารถออกหุ้นกู้ เพื่อมาสร้างกระแสเงินสดเพิ่มเติม แต่หากเป็นรายกลาง รายเล็ก ที่ไม่ได้มีกำไรสะสมมากพอที่จะดำเนินงานต่อได้มากถึง 2 ปี ก็จะต้องเลือกแนวทางการควบรวมกิจการหรือการตัดขายสินทรัพย์ที่มีทิ้ง ทั้ง ที่ดิน หรือขายทั้งโครงการให้กับผู้อื่น เพื่อเพิ่มกระแสเงินสดให้สามารถนำพาองค์กรต่อไปให้ได้