บ้านก็เก่า อยู่ไปนาน ๆ นอกจากจะไม่ตอบโจทย์เรื่องความสวยงามแล้ว ยังไม่สะดวกสบายอีกต่างหาก แถมบางส่วนของบ้านก็ทรุดโทรม ปล่อยไว้แบบนี้ไม่ดีแน่ ถ้าอยากกู้เงินมารีโนเวทบ้าน สามารถทำได้ไหม ?  ตามเรามาดูกันดีกว่า

จำเป็นมากแค่ไหน ต้องรีโนเวทบ้าน

หลายคนสงสัยว่าทำไมเราต้องรีโนเวทบ้าน ? มันจำเป็นขนาดที่จะต้องกู้เงิน สร้างหนี้กันเลยเหรอ? อยู่ต่อไปแบบนี้ก็ไม่เห็นเป็นอะไร ขอบอกเลยว่าการรีโนเวทบ้าน รีโนเวทคอนโดเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก ๆ ลองมาดูกันว่าเพราะอะไร?

  • ช่วยซ่อมแซมบ้านที่สภาพเก่า ยิ่งถ้าบ้านนั้นอาศัยกันมาหลายชั่วอายุคน นานวันเข้าก็ต้องมีทรุดโทรมกันบ้าง ทั้งหลังคา พื้นบ้าน บันได สีผนังบ้านที่หลุดลอก รวมทั้งสวนหน้าบ้านที่รกครึ้มจนทำให้บ้านดูวังเวง ดังนั้น การรีโนเวทจึงจำเป็นมาก ๆ นอกจากจะช่วยให้บ้านน่าอยู่ขึ้น ยังช่วยให้พักอาศัยได้แบบสะดวกสบายกว่าเดิม
  • ช่วยเพิ่มมูลค่าของอสังหาริมทรัพย์ ใครที่เป็นสายลงทุน อยากจะขายคอนโดฯ ที่ตัวเองเคยอยู่ หรือบ้านหลังเก่าที่ไม่มีใครอาศัยประจำ การรีโนเวทก็ถือเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับอสังหาริมทรัพย์ได้ดีมาก แต่ก็ต้องวางแผนค่าใช้จ่ายให้ดี อย่าให้การรีโนเวทบ้านทำให้คุณขาดทุน
  • ต้องซ่อมบ้านด่วนเพราะภัยธรรมชาติ สำหรับใครที่บ้านอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยพิบัติธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นฝนฟ้าคะนองจนหลังคาปลิวว่อน น้ำท่วมจนพื้นบ้านเสียหาย หรือลมพายุทำให้โครงสร้างชำรุด การรีโนเวทจึงเป็นสิ่งที่สำคัญต่อการอยู่อาศัยของคุณ

รีโนเวทบ้าน เหมือนขอสินเชื่อซื้อบ้านหรือเปล่า ?

มาทำความเข้าใจกันก่อนว่า การรีโนเวท หรือซ่อมแซมบ้านนั้น เราสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ 

1.กรณีซ่อมแซมหรือปรับปรุงโครงสร้างอาคาร

เคสนี้ครอบคลุมถึงขนาดทุบแล้วสร้างใหม่ เพราะหากคงสภาพไว้มีแต่ทรุดลง การทุบของเดิมทิ้งแล้ววางโครงสร้างใหม่ (แต่ไม่ถึงกับต้องรื้อบ้านทำใหม่ทั้งหลัง) อาจจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดแล้ว เช่น  เสาร้าว รั้วบ้านพัง บ้านทรุด ซึ่งต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญอย่างผู้รับเหมา มีแปลนก่อสร้างอย่างจริงจัง ทำเรื่องกับราชการ ทำให้การขอสินเชื่อเพื่อรีโนเวทนั้นต้องใช้เงินก้อนใหญ่

2.กรณีซ่อมแซมบ้านเล็กน้อยหรือตกแต่งเพิ่มเติม

กรณีนี้จะเป็นการซ่อมแซมเพียงเล็กน้อย ตัวบ้าน หรือห้องคอนโดของคุณอาจจะไม่ได้ทรุดโทรม หรือกระทบกับตัวโครงสร้าง อาทิ เพดานซึม ผนังร้าว กระเบื้องไม่เรียบสนิท หรือกันสาดชำรุด รวมทั้งเปลี่ยนก๊อกน้ำ หรือโถสุขภัณฑ์ ซึ่งถือว่าเป็นการซ่อมแซมเพียงเล็กน้อย ก็ไม่ต้องใช้งบมากนัก และสามารถทยอยซ่อมแซมได้ทีละส่วน

แล้วแบบนี้จะยื่นกู้สินเชื่อมาซ่อมแซม หรือช่วยในการรีโนเวทได้ไหมนะ ? เราขอบอกเลยว่าได้ โดยการกู้สินเชื่อเหล่านี้ จะถูกนับว่าเป็นสินเชื่อบ้านประเภทหนึ่ง ดังนั้น วิธีการยื่นขอสินเชื่อและเกณฑ์การประเมินของธนาคารจึงไม่ได้แตกต่างจากการยื่นกู้ซื้อ/สร้างบ้านทั่วไป 

โดยเราต้องเตรียมเอกสารส่วนตัว และเอกสารทางการเงินต่าง ๆ ให้ครบถ้วน ทั้งตัวผู้กู้หลักและผู้กู้ร่วม นอกจากนี้ สิ่งที่อาจต้องยื่นเพิ่มเติม คือ

  • สำเนาสัญญากู้เงินและสำเนาสัญญาจำนองกับสถาบันการเงิน (กรณีบ้านยังมีภาระหนี้)
  • หลักฐานการเป็นเจ้าของอาคาร
  • สำเนาโฉนดที่ดิน/นส.3ก ทุกหน้า
  • ใบอนุญาตก่อสร้าง ดัดแปลงอาคาร
  • แบบแปลน
  • ใบประมาณการดัดแปลงอาคาร / สัญญาว่าจ้างก่อสร้าง

    ขั้นตอนกู้ซ่อมบ้าน

จะเห็นได้ว่าเอกสารจำเป็นต้องมีใบประมาณการดัดแปลง มีแบบแปลนต่าง ๆ ทำให้ก่อนจะยื่นเอกสารเพื่อขอสินเชื่อ คุณจะต้องว่าแผนการต่อเติม และทราบงบประมาณที่จะต้องใช้หรือขอกู้ยืมก่อน

เมื่อได้ราคากลาง ต่อไปเราควรไปติดต่อทางผู้รับเหมาเพื่อให้ทำการออกหนังสือจ้างต่อเติมหรือหนังสือตีราคาค่าต่อเติม สำหรับนำไปยื่นเรื่องกู้กับทางธนาคาร โดยควรเป็นผู้รับเหมาที่เราจะจ้างเป็นคนรีโนเวทด้วยเพื่อที่ค่าใช้จ่ายอยู่ในวงเงินที่กู้มา

ที่สำคัญ เราควรเช็กให้แน่ใจว่า ผู้รับเหมาตีราคาเท่ากับแบบที่ออกไว้อยู่ในราคาที่เท่ากับในต้องที่เราทำเรื่องกู้ และต้องเผื่อเงินทุนสำรองไว้ด้วยเสมอในกรณีที่ทางสถาบันการเงินอาจจะให้คุณกู้ไม่เต็มวงเงินอีกด้วย

หลังจากที่ยื่นโดยปกติธนาคารจะให้ทำรายละเอียดสำหรับในขั้นตอนการเบิกงวดงานแนบมาพร้อมการขอสินเชื่อด้วย ทางธนาคารจะจ่ายเงินเป็นงวดตามผลงานในรายละเอียดงวดงานที่แนบมา ที่เหลือเราจะต้องไปตกลงการจ่ายเงินกับผู้รับเหมาเอง โดยทางธนาคารจะเป็นธุระให้

ดังนั้น การเบิกงวดงานของธนาคารจะเป็นไปตามหนังสือที่เราแนบไปให้ทำให้ ผู้กู้จำเป็นต้องควบคุมดูแลงานรีโนเวทให้ดี เพราะหลายครั้งอาจจะเกิดปัญหาผู้รับเหมาทิ้งงาน หรือบริษัทต้องการเงินไปหมุนก่อน แต่รีโนเวทให้เราไม่ได้ตามที่ต้องการก็มีเหมือนกันนะ เพราะฉะนั้นต้องตกลงในสัญญาให้ชัดเจน

ขอสินเชื่อยังไง ให้ได้วงเงินสูง ๆ ?

ข้อนี้ง่ายมาก ๆ ให้คุณลองคุย และตกลงกับทางผู้รับเหมาก่อสร้างให้ดี บางคนนอกจากเรื่องหน้าที่การงานที่ช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กับสถาบันการเงิน ทำให้กู้ได้ในวงเงินที่สูงแล้ว ตัวผู้รับเหมาก่อสร้างเองก็ต้องประเมินราคาก่อสร้างเผื่อไว้เสมอ อย่าลืมว่าการก่อสร้างเองจำเป็นต้องใช้ระยะเวลา ภาวะเงินฝืด-เงินเฟ้อก็ส่งผลต่อราคาวัสดุในการก่อสร้างเช่นกัน  

SOURCE : www.rabbitfinance.com