ทุกๆ คนคงจะเคยได้ยินชื่อโรคไบโพลาร์ กันมาบ้างแล้ว และเชื่อว่าคงจะเคยมีการเปรียบเปรยคนที่อารมณ์แปรปรวน ขึ้นๆ ลงๆ ไม่ค่อยคงที่ ด้วยคำถามว่า “เป็นไบโพลาร์เปล่าเนี่ย” แต่ความจริงแล้วหลายคนยังไม่ค่อยรู้จักโรคไบโพลาร์ สักเท่าไหร่ว่ามันเป็นอย่างไรกันแน่ รวมถึงไม่ทราบวิธีการรับมือกับผู้ป่วยโรคนี้ด้วย

ดังนั้นวันนี้ทางเรา จึงมีวิธีรับมือกับคนรักที่เป็นไบโพลาร์มาให้เพื่อนๆ ทุกคนได้ทราบกัน ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับลักษณะและอาการของโรคนี้แบบคร่าวๆ กันก่อนดีกว่า 

ลักษณะของ ‘ไบโพลาร์’

ไบโพลาร์ หรือ โรคอารมณ์สองขั้ว (Bipolar Disorder) เป็นโรคที่ทำให้ผู้ป่วยมีอารมณ์แปรปรวนอย่างสุดโต่ง โดยผู้ป่วยจะมีอารมณ์ดีมากจนผิดปกติ (Mania) สลับกับมีภาวะซึมเศร้าอย่างหนัก (Depression) ทำให้เกิดความยากลำบากต่อการใช้ชีวิต การทำงาน รวมถึงการเข้าสังคม ซึ่งจะมีลักษณะต่างกับภาวะบุคลิกภาพผิดปกติชนิดก้ำกึ่ง (BPD)

โดยผู้ป่วย BPD จะกลัวการถูกทอดทิ้ง มีความสัมพันธ์รักแบบเดี๋ยวรักเดี๋ยวเกลียด สับสนในตัวเอง มีอารมณ์ที่วู่วามหรือควบคุมตนเองไม่ได้ และบางครั้งอาจทำร้ายตัวเอง ซึ่งจะเกิดขึ้นไม่กี่ชั่วโมงหรืออาจจะวันสองวัน แต่ผู้ป่วยไบโพลาร์จะค้างอยู่กับภาวะอารมณ์ดีมากผิดปกติหรือภาวะซึมเศร้าอย่างหนักนานเป็นสัปดาห์ หลายสัปดาห์ หรือเป็นเดือนเลยทีเดียว

อาการของโรคไบโพลาร์

ผู้ป่วยโรคไบโพลาร์มี 2 ลักษณะเด่นสลับกัน คือ มีภาวะอารมณ์ดีผิดปกติและภาวะซึมเศร้าอย่างหนักสลับกันในช่วงระยะเวลาหนึ่ง โดยมีอาการที่สังเกตเห็นได้อย่างเด่นชัด ดังนี้

ภาวะอารมณ์ดีผิดปกติ (Mania)

  • รู้สึกตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา มีพลังงานล้นเหลือผิดปกติ
  • อารมณ์ดี ร่าเริงเกินไปแบบไม่สมเหตุสมผล อยู่ไม่สุข
  • โต้ตอบต่อสิ่งเร้าอย่างรวดเร็วและรุนแรง หงุดหงิดง่าย โกรธง่าย อารมณ์ไม่คงที่ ไม่มีเหตุผล
  • หุนหันพลันแล่น คิดเร็ว พูดมาก พูดเร็ว ทำสิ่งต่างๆ อย่างรวดเร็ว
  • ประมาท มีการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ไม่ดี ทำให้เกิดความผิดพลาดได้สูง
  • มีความต้องการทางเพศสูง เสี่ยงต่อการมีเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้าได้ง่ายโดยไม่ป้องกัน
  • ทำกิจกรรมหลายๆ อย่าง ในคราวเดียวกัน

ภาวะซึมเศร้าอย่างหนัก (Depression)

  • รู้สึกอ่อนเพลีย ไร้เรี่ยวแรง หมดพลังงาน ไม่สดใส เหนื่อยหน่าย เบื่อ ท้อแท้ สิ้นหวัง
  • ซึมเศร้า เก็บตัว อารมณ์อ่อนไว เสียใจง่าย ร้องไห้ง่าย
  • ครุ่นคิด วิตกกังวลต่อสิ่งต่างๆ ฟุ้งซ่าน มองโลกในแง่ร้าย
  • ไม่มีความสุขในชีวิต ไม่มีอารมณ์ขัน ไม่ตอบสนองใดๆ ต่อสิ่งที่ทำให้รู้สึกดีหรือผ่อนคลาย
  • ว่างเปล่า โดดเดี่ยว ไร้ค่า มีความคิดอยากตายหรืออยากฆ่าตัวตาย
  • ทำกิจกรรมต่างๆ ลดน้อยลงมาก หรือไม่อยากทำอะไรเลย
  • มีปัญหาเรื่องความจำ ไม่สามารถจดจำสิ่งต่างๆ ไม่มีสมาธิในการทำสิ่งใดให้สำเร็จ
  • มีปัญหาเรื่องการนอน อาจนอนไม่หลับ นอนมากเกินไปหรือน้อยเกินไป
  • มีปัญหาเรื่องการกิน อาจกินอาหารปริมาณมากหรือน้อยจนเกินพอดี
  • มีแนวโน้มจะใช้สารเสพติด

ดังนั้นหากใครก็ตามที่มีคนใกล้ตัวหรือคนรักที่ป่วยเป็นไบโพลาร์ล่ะก็ อาจจะต้องรู้จักกับวิธีการรับมือกันไว้สักหน่อย เพื่อที่เวลาเขาหรือเธอเกิดอาการกำเริบขึ้นมา จะได้รู้ว่าตัวเองต้องทำยังไง กับสถานการณ์หรืออารมณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น

วิธีรับมือกับคนรักที่เป็นไบโพลาร์ 

  • ทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคไบโพลาร์

ถือเป็นเรื่องพื้นฐานอย่างแรกเลยที่คุณจะต้องศึกษาข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับโรคนี้ ว่ามันมีลักษณะอย่างไร อาการต่างๆ ที่แสดออกตอนภาวะอารมณ์ดีผิดปกติ และภาวะซึมเศร้าอย่างหนัก รวมถึงมีวิธีการรักษาแบบไหนด้วย เพื่อที่คุณจะได้เข้าใจโรคนี้มากขึ้น ซึ่งมันจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ช่วยให้คุณสามารถทำความเข้าใจพฤติกรรมและอารมณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากคนรักของคุณได้

  • หลีกเลี่ยงการใช้ถ้อยคำที่ฟังแล้วกระทบกระเทือนจิตใจ

บางคนอาจพูดคำพูดสะเทือนใจต่างๆ เช่น “โรคจิต” หรือ “อาการหนักนะเราอะ” ตอนที่พวกเขาอธิบายเกี่ยวกับความรู้สึกของตัวเองให้ฟัง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง เพราะการใช้ถ้อยคำประเภทนี้จะทำให้ผู้ป่วยไบโพลาร์รู้สึกว่าประสบการณ์ หรือเรื่องราวของตัวเองนั้นดูไร้ค่า และตัวเขาเป็นตัวปัญหาต่อสังคมหรือคนรอบข้าง ดังนั้นคุณจะต้องให้ความเคารพผู้ป่วยเวลารับฟังเรื่องราวของเขาหรือเธอด้วย

  • คุยกันอย่างเปิดใจและแสดงความห่วงใยให้เห็น

เนื่องจากโรคนี้จะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกโดดเดี่ยว ไร้ค่า ไม่มีความสุขในชีวิต และไร้เรี่ยวแรงจะสู้ต่อไป คุณจึงควรแสดงให้เห็นว่าเขาหรือเธอไม่ได้อยู่คนเดียว ยังมีคุณคอยช่วยเหลือหรือคอยสนับสนุนอยู่ข้างๆ เสมอ โดยเฉพาะตอนที่อยู่ในช่วงภาวะซึมเศร้าอย่างหนัก คุณควรแสดงความรัก และให้การยอมรับในตัวผู้ป่วย เช่น การใช้คำพูดว่า เรารักเธอนะ ฉันเป็นห่วงคุณนะ มีอะไรให้เราช่วยไหม หรือเธอคือสิ่งสำคัญสำหรับฉัน เป็นต้น

  • พยายามให้ผู้ป่วยแบ่งปันความรู้สึกหรือประสบการณ์ต่างๆ

หลังจากที่ได้พูดคุยกันอย่างเปิดใจและคุณได้แสดงถึงความห่วงใยให้คนรักของคุณรับรู้แล้ว อาจถามกลับไปว่าแล้วตอนนี้รู้สึกยังไงบ้าง เพื่อที่อีกฝ่ายจะได้พูดคุยแสดงความรู้สึกของตัวเองทั้งหมดออก มาให้คุณได้รู้ คุณอาจไม่จำเป็นต้องแสดงออกใดๆ ว่าคุณรู้ดี หรือเข้าใจความรู้สึกเหล่านั้นดี เพียงแค่คุณรับฟังคำพูดของคนรัก อย่างใส่ใจและห่วงใยก็เพียงพอแล้ว 

  • อย่าคิดว่าความรู้สึกหรือความคิดของอีกฝ่ายนั้นไม่จริง

ถึงแม้ความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับคนรักของคุณ อาจมาจากภาวะซึมเศร้า แต่ว่ามันก็เป็นความรู้สึกจริงๆ ที่เขารู้สึกอยู่ ณ ตอนนั้น หากคุณมองข้ามความรู้สึกของเขาหรือเธอไป เพราะคิดว่ามันเกิดขึ้นจากอาการของโรคเท่านั้น คงไม่ใช่ความรู้สึกที่แท้จริงหรอก จะทำให้เขาปิดกั้นตัวเองจากคุณ และไม่ยอมบอกเกี่ยวกับความรู้สึกของตัวเองให้คุณรับรู้อีกต่อไป

  • พูดคุยให้เขาสบายใจเรื่องสุขภาพของตัวเอง

เมื่อผู้ป่วยไบโพลาร์กำลัอยู่ในภาวะอารมณ์ดีผิดปกติ มักจะรู้สึกว่าตัวเองมีความสุขเป็นอย่างมาก จึงไม่ค่อยยอมรับว่าตัวเองป่วย แต่เมื่อผู้ป่วยกำลังอยู่ในช่วงภาวะซึมเศร้าอย่างหนัก อาจรู้สึกราวกับว่าตัวเอง กำลังประสบปัญหาสุขภาพที่หนักหน่วงและร้ายแรง โดยที่ไม่มีหวังว่าจะรักษาได้

ฉะนั้นคุณจึงควรใช้วิธีการพูดให้เขาสบายใจขึ้นว่า มันสามารถรักษาได้เหมือนกับโรคอื่นๆ เพื่อให้เขาหรือเธอไม่ต้องกังวลว่ามันเป็นอาการผิดปกติที่ร้ายแรงหรือรักษาไม่หาย หรือไม่ก็อาจให้ไปรักษาตามอาการของโรคที่คุณสังเกตเห็นว่ามันเกิดขึ้น เช่น ถ้าเขานอนไม่หลับ ก็ให้เขาไปรักษาเกี่ยวกับอาการนอนไม่หลับแทน เป็นต้น

  • ไม่ควรตำหนิหรือใช้คำพูดข่มขู่ต่างๆ

คุณอาจมีความกังวลเกี่ยวกับสุขภาพของคนที่คุณรักและยินดีที่จะสร้างความมั่นใจว่าเขาจะได้รับความช่วยเหลือจากคุณอย่างแน่นอน แต่ไม่ควรใช้วิธีข่มขู่ต่างๆ เช่น คุณกำลังทำให้ฉันเป็นห่วงนะ หรือ ฉันจะไม่คอยช่วยเหลืออะไรคุณอีกต่อไป เพราะจะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกตึงเครียด และมีอารมณ์ที่รุนแรงมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้อาการป่วยของเขาย่ำแย่ยิ่งกว่าเดิม

  • คอยจับตาดูความคิดหรือพฤติกรรมที่อาจนำไปสู่การฆ่าตัวตาย

อีกหนึ่งพฤติกรรมเสี่ยงของผู้ป่วยไบโพลาร์ก็คือ การฆ่าตัวตาย ซึ่งผู้ป่วยโรคนี้มีแนวโน้มจะคิดหรือพยายามฆ่าตัวตายมากกว่าผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเสียอีก เพราะฉะนั้นหากคุณสังเกตเห็นว่าคนรักของคุณชอบพูดหรือมีพฤติกรรมที่เกี่ยวกับการฆ่าตัวตายล่ะก็ ควรขอความช่วยเหลือทันที

โดยการโทรแจ้ง 191 หรือ 1669 สายด่วนช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน หรือ 1667 กับ 1323 สายด่วนกรมสุขภาพจิตและที่สำคัญคือ ตัวคุณเองควรสร้างความมั่นใจให้กับคนรักของคุณด้วยว่าชีวิตของพวกเขามีความหมายขนาดไหน

  • เน้นย้ำถึงความจำเป็นของการเข้ารับการรักษา

ไบโพลาร์เป็นอีกหนึ่งโรคที่มีความรุนแรงอยู่ไม่น้อย แถมยังมีผลกระทบหลายๆ ด้านในชีวิตของผู้ป่วยด้วย ซึ่งถ้าไม่ได้เข้ารับการรักษาก็อาจทำให้อาการต่างๆ ทรุดลงเรื่อยๆ จนถึงขั้นย่ำแย่ได้เลย ดังนั้นคุณจึงควรที่จะพยายามพูดเชิงส่งเสริมให้คนรักของคุณยอมเข้ารับการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อจะได้มีอาการที่ดีขึ้นหรือหายจากโรคนี้


ทีนี้ทุกคนก็คงจะรู้กันแล้วว่าโรคไบโพลาร์นั้นมีลักษณะอาการเป็นยังไง และมีอารมณ์ที่ละเอียดอ่อนขนาดไหน รวมถึงรู้วิธีการรับมือกับผู้ป่วยโรคนี้ด้วย ซึ่งทุกคนสามารถนำไปใช้กับคนรัก เพื่อน หรือคนในครอบครัวก็ได้ และสำหรับใครก็ตามที่มีคนใกล้ตัวป่วยเป็นโรคนี้ แน่นอนว่าการเข้าใจอาการของโรค พร้อมกับรู้วิธีการรับมือ จะสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยไบโพลาร์ในเบื้องต้นก่อนที่จะเข้ารับการรักษาได้มากทีเดียว

ขอบคุณข้อมูลจาก : pobpad.com และ th.wikihow.com

SOURCE :  rabbitfinance.com