ผังเมืองรวม กทม. มีอะไรเปลี่ยนไป?

 

            หลังจากที่มีการประกาศมาในช่วงปี 2561 ว่า ผังเมืองรวม กรุงเทพมหานคร ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4 จะประกาศใช้ในปี 2562 นี้ ล่าสุดก็กำลังจะมาถึงขั้นตอนของการ ประชุมรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ในวันที่ 24 พฤษภาคม 2562 ที่กำลังจะถึงนี้ โดยมีการเผยแพร่ ร่าง ผังเมืองรวม กรุงเทพมหานคร พ.ศ. .... ออกมาเพื่อเตรียมรับฟังความคิดเห็น ซึ่งก่อนจะถึงช่วงเวลาดังกล่าว TerraBKK ขอเชิญชวนทุกท่านลองมาเล่นเกมจับผิดภาพกันสิว่า มีอะไรเปลี่ยนไปบ้างใน ผังเมืองรวม กทม. ฉบับที่กำลังจะประกาศนี้

 

ความเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินใน ผังเมืองรวม กทม. ฉบับใหม่

            จะเห็นได้ว่าสีของ ผังเมืองรวม กรุงเทพฯ ฉบับที่เตรียมประกาศออกมานั้น ดูจัดจ้านในสีสันมากกว่าเดิม โดยเฉพาะใน พื้นที่สีเขียวทแยงขาว ก.2 (ที่ดินปรเภทอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม หรือ พื้นที่รับน้ำ) ในเขตทวีวัฒนา, เขตตลิ่งชัน และ เขตบางแค ที่หายไปทั้งแถบ เช่นเดียวกับ พื้นที่สีเขียวทแยงขาว ก.1 ฝั่งตะวันออกในเขตคลองสามวาและเขตหนองจอก ที่หายไปกว่าครึ่ง

นอกจากนั้น สังเกตได้ว่าความเจริญถูกกระจายไปทางฝั่งตะวันออกมากขึ้น โดยมีการปรับ ผังเมืองรวม จาก พื้นที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย (สีเหลือง ย.1-ย.4) ในเขตบางเขน, เขตลาดพร้าว, เขตบึงกุ่ม และ เขตวังทองหลาง มาเป็น พื้นที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง (สีส้ม ย.6-ย.9) แทน

            และสำหรับทำเล Inner Urban, New CBD และ CBD มีการปรับ ผังเมืองรวม เล็กน้อย ซึ่งเป็นไปตามการพัฒนาของเมืองที่เติบโตขึ้น โดยได้แก่ บริเวณแยกรัชโยธิน (เขตจตุจักร) จาก พื้นที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง ย.5-7 เป็น พื้นที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก ย.11-13

            ทำเล New CBD อย่าง พระราม9 บริเวณแยกพระราม9 ปรับจาก ที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก (สีน้ำตาล ย.9) เป็น พื้นที่พาณิชยกรรม (สีแดง พ.7) ใกล้เคียงกันบนถนนพระราม9 ข้างแปลงที่ดินการรถไฟมักกะสัน ปรัจาก พื้นที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง (ย.7) เป็น พื้นที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก (สีน้ำตาล ย.13) และย่าน พร้อมพงษ์-ทองหล่อ-คลองเตย ปรับจาก ที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก (สีน้ำตาล ย.10) เป็น พื้นที่พาณิชยกรรม (สีแดง พ.7) เช่นเดียวกัน และในเขตพระนคร พื้นที่อนุรักษ์ทั้งหมด ได้ถูกปรับให้เป็นพื้นที่สถาบันราชการ (สีน้ำเงิน), พื้นที่ทหาร และ พาณิชยกรรม (สีแดง พ.1-5)

            นอกจากนั้นใน ร่างผังเมืองรวม มีการกำหนดพื้นที่พาณิชยกรรม (สีแดง) ในทำเลชานเมืองที่เป็นจุดตัดของเส้นทางรถไฟฟ้าในอนาคต เพื่อรองรับการพัฒนาพื้นที่รอบสถานี (TOD) และเพื่อเป็นศูนย์กลางย่อยในชานเมือง

ปรับข้อกำหนการใช้ประโยชน์ที่ดินใหม่ในผังเมืองรวม

            นอกจากการปรับสีการใช้ประโยชน์ที่ดินแล้ว ในด้านข้อกำหนดในผังเมืองรวมก็มีการปรับเพิ่มขึ้นเช่นกัน ดังนี้

  • ที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย (สีเหลือง)

ย.1-4 (FAR 1 / 1.5 /2.5 / 3, OSR 40 / 20 / 12.5 / 10) ปรับเป็น ย.1-5 (FAR 4 / 4.5 / 5, OSR 40 / 20 / 15 / 12.5 / 10)

  • ที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง (สีส้ม)

ย.5-7 (FAR 1 / 1.5 /2.5 / 3, OSR 7.5 / 6.5 / 6) ปรับเป็น ย.6-10 (FAR 3.5 / 4 / 4.5 / 5 / 5.5, OSR 8.5 / 7.5 / 6.5 / 6 / 5.5)

  • ที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก (สีน้ำตาล)

ย.5-7 (FAR 6 / 7 / 8, OSR 5 / 4.5 / 4) ปรับเป็น ย.11-15 (FAR 6 / 6.5 / 7 / 7.5 / 8, OSR 5 / 4.75 / 4.5 / 4.25 / 4)

  • พาณิชยกรรม​(สีแดง)

พ.1-5 (FAR 5 / 6 / 7 / 8 / 10, OSR 6 / 5 / 4.5 / 4 / 3) ปรับเป็น พ.1-8 (FAR 3 / 4 / 5 / 6 / 7 / 7 / 8 / 10, OSR 10 / 7.5 / 6 / 5 / 4.5 / 4.5 / 4 / 3)

            โดยเงื่อนไขของการพัฒนาที่ดินบางประเภท ก็ยังมีการปรับเปลี่ยน โดยเฉพาะ ที่ดินประเภทพาณิชยกรรม สีแดง พ.1-พ.2 ซึ่งแต่เดิมสามารถพัฒนาคอนโดมิเนียมที่มีพื้นที่ต่ำกว่า 10,000 ได้ โดยไม่มีเงื่อนไข แต่ในข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินจากร่างผังเมืองรวมฉบับนี้ ไม่สามารถพัฒนาคอนโดมิเนียม ที่มีพื้นที่มากกว่า 1,000 ตร.ม. ได้เลย (รวมถึงที่ดินพาณิชยกรรม พ.3 เช่นกัน)

            สำหรับผู้ที่อยากทราบรายละเอียดของ ร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4 นี้ สามารถดาวน์โหลดข้อมูลได้ที่ http://plan4bangkok.com/pr.html#downloadpdf

และสามารถไปร่วมประชุมรับฟังความคิดเห็น ในวันที่ 24 พฤษภาคม 2562 นี้ เวลา 9.00-12.00 น. ที่อาคารกีฬาเวศน์2 ศูนย์กีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง - เทอร์ร่า บีเคเค

บทความโดย : TerraBKK เคล็ดลับการลงทุน

TerraBKK ค้นหาบ้านดี คุ้มค่า ราคาถูก