เจาะลึกประเทศจีน : ทำไม “จีน” ดึงดูดการลงทุนต่างชาติ (FDI)

            ด้วยขนาดเศรษฐกิจของประเทศจีน ความต้องการด้านเงินทุน, เทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญต่างประเทศ ยังเป็นสิ่งจำเป็นต่อการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจ เพื่อยกระดับประเทศ ซึ่งรัฐบาลจีนเอง ก็พยายามพัฒนากระบวนการเปิดประเทศ รวมทั้งจัดการความเสี่ยงทางเศรษฐกิจมหภาค มาอย่างต่อเนื่อง จึงไม่แปลกใจ หากปัจจุบัน ประเทศจีน จะเป็นหนึ่งจุดหมายปลายทางของ การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) TerraBKK จับประเด็นน่าสนใจ รายละเอียดดังนี้

แรงงานคุณภาพ-โครงข่ายขนส่ง-ตลาดบริโภคขนาดใหญ่ หัวใจหลักดึงดูด FDI สู่จีน

           จีนในยุคปัจจุบันเปลี่ยนไปแล้ว จาก 'แรงงานราคาถูก' สู่ “ทรัพยากรแรงงงานคุณภาพ” สร้างความคุ้มค่าแก่เงินลงทุน อย่างที่ทราบว่า จีนให้ความสำคัญกับการศึกษามาก มีผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีมากกว่า 6.5 ล้านคนทุกปีตั้งแต่ปี 2557 สูงเป็นอันดับ 2 รองจากรัสเซียในกลุ่มเศรษฐกิจ BRICS และเป็นประเทศตลาดเกิดใหม่อันดับที่ 34 ของโลก แสดงให้เห็นว่า จีนมีแหล่งทรัพยากรมนุษย์รองรับการส่งเสริมนวัตกรรม และมีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างต่อเนื่อง

           ecological civilization หรือ อารยธรรมทางระบบนิเวศ ผลักดันจีนเป็นประเทศลดมลพิษ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นแนวคิดที่ดีแต่ก็สร้างความท้าทายในการลงมือทำอย่างมากว่าจะทำได้จริงหรือไม่ นอกจากนี้ จีนยังให้ความสำคัญเรื่อง "โครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง" และ "อินเทอร์เน็ต" เช่น อัพเกรดโครงสร้างพื้นฐานของสวนอุตสาหกรรม เป็นต้น อีกด้วย



             และด้วยจุดเด่นที่ว่า จีนเป็นตลาดบริโภคสินค้าระดับกลางถึงระดับสูงขนาดใหญ่ที่สุดในโลก กลายเป็นข้อได้เปรียบสำคัญที่ FDI มองเห็นในประเทศจีน ถือเป็นโอกาสเชิงรุกสร้างการเติบโตในตลาดระดับกลางและสูงได้

Emerging Country มาวิน ชอบลงทุน FDI ในจีน


            นับจากช่วงปี 2008 สัดส่วนการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) ของประเทศจีน ถูกขับเคลื่อนโดยกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging) ทดแทน ตลาดกลุ่มประเทศพัฒนา เอเชียกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการเติบโต ทดแทนสัดส่วนที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัดของกลุ่มประเทศละตินอเมริกา

กระแส FDI เปลี่ยนทิศ จาก “การผลิตแบบดั้งเดิม” เป็น “การผลิตเทคโนโลยีและบริการทันสมัย”


             อย่างที่ทราบว่า รัฐบาลจีนกำลังส่งเสริมการพัฒนาภาคบริการที่ทันสมัยและภาคการผลิตที่ใช้ทรัพยากรคุณภาพระดับสูง เพื่อยกระดับโครงสร้างอุตสาหกรรมของจีน และ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอุตสาหกรรมนำไปสู่การปรับเปลี่ยนกระแสเงินลงทุนโดยตรง


             จากการตัวเลขสถิติของจีน การเติบโตของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ใน “ภาคบริการ” สูงกว่า “การผลิต” อย่างมาก สังเกตเห็นได้ว่า ช่วงปี 2008-2016 การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสู่ภาคการผลิตของจีน (Manufacturing) มีอัตราการเติบโตลดลงเฉลี่ยต่อปี -1.07% ในขณะที่ภาคบริการ (All services)โตเฉลี่ย 12.79% ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมที่มีค่าเฉลี่ยเติบโตสูงสุดได้แก่ Education 95.39% รองมาเป็น Finance 71.72% สะท้อนได้ว่า กระแส FDI ของจีนกำลังเปลี่ยนทิศทางจาก "ภาคการผลิตแบบดั้งเดิม" ไปสู่ภาค "ภาคการผลิตเทคโนโลยีและบริการที่ทันสมัย" ขยายการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่ม เพื่อเพิ่มศักยภาพในเชิงพาณิชย์ ซึ่งเป็นจุดเด่นข้อได้เปรียบของตลาดจีน

              ท้ายนี้ นอกเหนือจากจุดเด่นเดิม ๆ ที่โดนใจ FDI ในจีนอย่าง "ต้นทุนต่ำ" แล้ว จีนเองก็พยายามชูถึงการเปลี่ยนแปลง "โครงสร้างทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ" เพื่อสร้าง "รอบวัฏจักรเศรษฐกิจใหม่" เปิดโอกาสให้บริษัทต่างชาติทำงานใกล้ชิดกับหน่วยงานจีน เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดในประเทศ และเปลี่ยนรูปแบบการผลิตจาก 'Made in China' เป็น 'Made with China' การเปลี่ยนแปลงนี้ ไม่เพียงแต่สะท้อนถึงสาเหตุที่จีนได้รับความสนใจการลงทุนจากบริษัทต่างชาติ แต่ยังสะท้อนถึง การเติบโตของการลงทุนที่มีคุณภาพและสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ หลากหลายบริษัทระดับโลก จึงเลือกจีนเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ระดับภูมิภาค ---TerraBKK

 

 

 


บทความโดย : TerraBKK เคล็ดลับการลงทุน
TerraBKK ค้นหาบ้านดี คุ้มค่า ราคาถูก