การใช้เวลาเอื่อย ๆ นั่งเฉื่อย ๆ อย่างสบายใจ จะช่วยให้งานของคุณมีคุณภาพมากขึ้นได้

กองงานที่ทำเท่าไรก็ไม่เสร็จไม่สิ้น และวัฒนธรรมการทำงานที่บีบบังคับให้พวกเราขยันขันแข็งทุกวี่ทุกวัน ทำให้พวกเราเกิดความรู้สึกละอายหรืออย่างน้อยก็รู้สึกผิดเล็ก ๆ เมื่อเราได้มีเวลาพักระหว่างวัน แต่เชื่อเถอะว่าชีวิตที่ต้องนั่งเฝ้าจออีเมล์เมื่อไม่มีอะไรทำ (หรือตอนที่ไม่อยากทำอะไร) ไม่ใช่วิธีพัฒนาเนื้องานแน่นอน ทว่า “การอู้” อย่างมีชั้นเชิงต่างหากที่จะช่วยให้งานของคุณดีขึ้นได้

 

“เราต้องทำงานตลอดเวลา”

จริงหรือ?

เชื่อไหมว่าเมื่อราว ๆ 2 ปีก่อน Merlin Mann นักเขียนชื่อดังผู้ถูกว่าจ้างให้เขียนหนังสือเกี่ยวกับระบบการจัดการอีเมล์นั้น ได้เทงานแล้วหันไปโพสต์ระบายลงบนเว็บบล็อกส่วนตัวโดยมีเนื้อความเกี่ยวกับการใส่ใจงานมากเกินไปอันส่งผลกระทบกับชีวิตส่วนตัวและทำให้เขาพลาดเวลาสำคัญ ๆ ที่ควรจะใช้กับลูกสาว

ปัญหาต่าง ๆ มักจะเกิดขึ้นเมื่อเราวิ่งไล่ความเป็นอุดมคติ โดยปฏิเสธการพักผ่อนหย่อนใจที่คนปกติควรจะ

ทำเมื่อเหนื่อยล้า ไม่ว่าจะเป็นการงีบหลับสั้น ๆ ออกไปเดินทอดน่องซัก 5 นาที หรือการนั่งอ่านหนังสือซักบทริมหน้าต่าง ซึ่งแม้ว่าบางคนจะสามารถจัดการเวลาทำงานให้พอได้พักหายใจบ้าง แต่ความคิดเรื่องการทุ่มเทให้องค์กรก็ทำให้พวกเขารู้สึกผิดอยู่ดี 

 

“พักจากงานด้วยการจ้องจอ”

ปัญหาใหญ่ในสังคมเมือง

วิธีที่จะบรรเทาความรู้สึกแง่ลบเมื่อคนส่วนใหญ่ว่าง คือการกลับไปนั่งประจำที่โต๊ะเพื่อเปิดคอมพิวเตอร์ หาโน่นนี่อ่านไปเรื่อย ๆ ทั้งเว็บไซต์และอีเมล์ที่ส่วนใหญ่ก็คงไม่ใช่เรื่องงาน ซึ่งการกระทำนี้ไม่ได้ส่งผลดีต่อทั้งงานและสุขภาพจิตอย่างที่มันควรจะเป็น

“แนวคิดหนึ่งที่พวกเราโดนปลูกฝังมาตลอดคือ พวกเราต้องทำงานตลอดเวลา” Michael Guttridge นักจิตวิทยาผู้ศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมในที่ทำงานกล่าว “มันยากที่จะออกมาจากวังวนนี้ แล้วไปเดินเล่นในสวนสาธารณะครับ” ซึ่งถ้ามองตามความเป็นจริง เราไม่ได้นั่งสร้างผลงาน แต่เรากำลังสไลด์จออ่านอะไรก็ไม่รู้บนโซเชียลมีเดียแล้วบอกตัวเองว่า “เรากำลัง multitasking อยู่” ทั้ง ๆ ที่เราใช้เวลามากกว่าการทำงานให้จบเป็นชิ้น ๆ ไปด้วยซ้ำ

นอกจากนี้ เรายังพลาดโอกาสดี ๆ ในการพัฒนาสุขภาพกายและจิต “ผู้คนเลือกที่จะกินข้าวที่โต๊ะ มันแย่มากครับ พวกเขาควรออกไปเดิน ไปร้านกาแฟ ทำไงก็ได้ให้ได้ออกไปจากหน้าคอมบ้าง” Guttridge พูด “ขนาดโรงงานสมัยก่อนยังมีช่วงเวลาพักเลย” 

แนวคิดด้านการทำงานหนักจะนำมาซึ่งชิ้นงานที่ดีนั้นไม่ถูกต้องเสียทีเดียว หากเราแบ่งเวลาให้เหมาะสมและทำงานอย่างตั้งใจมากพอ เราจะพบว่าระยะเวลาที่ใช้ต่อการทำงานแต่ละชิ้นไม่ได้มากมายอย่างที่เราคิด ซึ่งบางครั้งกิจกรรมที่ควรจะเป็นการให้รางวัลตัวเองอย่างการชมภาพยนตร์ก็ถูกจิตใต้สำนึกของเราทำลายความสนุกสนานเหล่านั้นลง เช่นบางคนเลือกจะดูคลิปด้วยความเร็ว x1.25 หรือแม้แต่ x1.5 เพื่อให้ดูจบเร็วขึ้น ทำให้พวกเขาพลาดความสนุกตลอดจนพลาดการซึมซับบรรยากาศดี ๆ ไปอย่างน่าเสียดาย

 

“อู้งาน” อย่างไร

ให้ได้ประโยชน์

“การปล่อยให้ตัวเองได้ใช้เวลากับสิ่งที่ชอบเป็นการชาร์จแบตให้ชีวิต และช่วยให้สมองของคุณจัดเรียงข้อมูลเพื่อเตรียมพร้อมรับสิ่งใหม่ ๆ” การใช้เวลาผ่อนคลายโดยไม่คำนึงถึงเรื่องงาน จะนำไปสู่การสร้างผลงานดี ๆ พร้อมกับช่วยสร้างสุขภาพกายและจิตที่เหมาะสม ดังนั้นพวกเราทุกคนควรจะใช้เวลาว่างเท่าที่มีเช่นหลังเลิกงาน ในการอ่านนิตยสารที่ชอบ เดินเล่นในชุมชน หรือนอนกลิ้งไปกลิ้งมาเป็นการให้รางวัลชีวิต และมองกิจกรรมเหล่านี้เป็นสิ่งที่มันควรจะเป็น ซึ่งไม่ใช่ “การอู้” แต่คือ “การใช้เวลาอย่างคุ้มค่า” นั่นเอง

บทความจาก: https://www.weforum.org/agenda/2017/05/this-is-the-psychological-importance-of-wasting-your-time

ขอบคุณข้อมูลจาก www.workventure.com