ข่าวคราวการจากไปของ น.ส. บุตรศรัณย์ ทองชิว หรือ น้ำตาล เดอะสตาร์ กลายเป็นแรงกระเพื่อมครั้งใหญ่ที่ทำให้คนไทยหันมาตื่นตัวและทำความรู้จักกับโรคปริศนาอย่าง “วัณโรคหลังโพรงจมูก” โรคร้ายที่ทางทีมแพทย์ศิริราชพยาบาลระบุว่า เป็นโรคที่หายาก พบได้ 1 ในล้านอย่างจริงจัง หลังจากคณะแพทย์ศิริราชได้รายงานผลการตรวจวินิจฉัยชิ้นเนื้อหลังโพรงจมูกแล้วบ่งชี้ว่า เสียชีวิตด้วยวัณโรคหลังโพรงจมูก

         พูดถึงวัณโรค หลายคนอาจคุ้นหูเป็นอย่างดี แต่ไม่คิดว่าจะเป็นโรคร้ายที่มีอานุภาพถึงขั้นคร่าชีวิตได้ ทว่า จากสถิติกลับพบว่าคนไทยเป็นวัณโรคนับแสนคน และเป็นประเทศที่มีอัตราการเป็นวัณโรคสูงเป็นอันดับ 14 ของโลกเลยทีเดียว 

         ทั้งนี้ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ในฐานะอายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคปอด อดีตอาจารย์คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายให้เห็นภาพว่า ปกติผู้ป่วยวัณโรคประมาณ 80% ตรวจพบที่ปอด อีก 20% เกิดขึ้นนอกปอด จุดที่พบบ่อยคือ ต่อมน้ำเหลือง รองลงมา คือกระดูก ลำไส้ และผิวหนัง ส่วนวัณโรคโพรงจมูก หายาก 1 ในล้าน และพบว่ามีการติดต่อกันได้น้อยกว่าวัณโรคชนิดอื่น

         สำหรับสาเหตุของวัณโรคเกิดจากเชื้อไมโคแบคทีเรียม ทูเบอร์ คูโลซิส (Mycobacterium tuberculosis) ติดต่อโดยการสูดอากาศที่มีตัวเชื้อนี้เข้าไป ซึ่งเชื้อโรคชนิดนี้มีคุณสมบัติพิเศษคือ มีความคงทนต่ออากาศแห้ง ความเย็น ความร้อน สารเคมี และอยู่ในอากาศได้นาน ยกเว้นไม่ทนทานต่อแสงแดด เมื่อผู้ป่วยสูดหายใจเอาละอองฝอยที่มีเชื้อวัณโรคเข้าสู่ร่างกาย เชื้อวัณโรคที่มีขนาดใหญ่จะติดอยู่ที่จมูกหรือลำคอ ซึ่งมักไม่ก่อให้เกิดโรค แต่ส่วนที่มีขนาดเล็กๆ จะเข้าไปสู่ที่ปอด โดยเชื้อส่วนหนึ่งจะถูกทำลายด้วยระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ส่วนเชื้อที่ถูกทำลายไม่หมดจะแบ่งตัวทำให้เกิดการติดเชื้อ ซึ่งหากระบบภูมิคุ้มกันแข็งแรงจะสามารถยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อวัณโรค

         ทั้งนี้เชื้อวัณโรคจะแพร่โดยเชื้อจนอยู่ในเสมหะที่มีขนาด 1-5 ไมครอนซึ่งจะไปถึงถุงลมในปอดและทำให้เกิดการติดเชื้อ เสมหะนี้จะเกิดจากการไอ จาม พูดหรือร้องเพลง เชื้อโรคอาจจะอยู่ที่กล่องเสียงหรือในปอด หากเสมหะมีขนาดใหญ่กว่านี้จะถูกติดที่เยื่อบุโพรงจมูกซึ่งตามปกติไม่ทำให้เกิดโรค

         สำหรับ วัณโรคหลังโพรงจมูก ความน่ากลัว คือ ผู้ป่วยมักไม่มีอาการใด ๆ ที่แสดงโรค มีเพียงอาการของเลือดกำเดาไหลหรือไอเป็นเลือด ดังนั้นเพื่อความไม่ประมาท หากมีอาการเข้าข่ายว่าเป็นสัญญาณของวัณโรค เช่น  มีไข้ต่ำ ๆ คล้ายอาการไข้หวัดใหญ่ โดยเฉพาะในช่วงบ่าย ๆ เย็น ๆ หรือตอนกลางคืน  ครั่นเนื้อครั่นตัวเหมือนไม่สบาย อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร กินอะไรไม่ค่อยลง น้ำหนักลด เหงื่อออกตอนกลางคืน หรือ อาจมีอาการไอเป็นเลือด ร่วมกับอาการเจ็บหน้าอก ในผู้ป่วยวัณโรคระยะลุกลาม ให้ไปพบแพทย์

         ถามว่าใครเสี่ยงบ้างกับโรควัณโรคหลังโพรงจมูก คำตอบ คือ ‘ทุกคน’ โดยเฉพาะหากไปสัมผัสหรืออยู่ในที่ที่มีผู้ป่วยวัณโรคแพร่เชื้อให้ ทั้งนี้กลุ่มคนที่เสี่ยงเป็นวัณโรคได้มากกว่าบุคคลทั่วไป ก็คือ ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรค ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้สูงอายุ ผู้ที่ใช้ยากดภูมิคุ้มกันหรือยาสเตียรอยด์ชนิดต่างๆ  ผู้ป่วยที่เพิ่งได้รับการผ่าตัด ซึ่งจะอยู่ในช่วงที่ร่างกายอ่อนแอ ผู้ป่วยมะเร็งที่ต้องเข้ารับเคมีบำบัด ผู้เปลี่ยนถ่ายอวัยวะ ผู้ป่วยโรค HIV

         อย่างไรก็ตาม สำหรับการรักษาวัณโรคในปัจจุบันสามารถใช้ยารักษาวัณโรคซึ่งมีอยู่หลายชนิดด้วยกัน โดยระยะแรกของการรักษา ผู้ป่วยต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาล เพื่อควบคุมเชื้อไม่ให้แพร่กระจาย หากมีอาการดีขึ้นแล้วแพทย์จึงอนุญาตให้กลับไปรักษาตัวต่อที่บ้านได้ แต่สิ่งสำคัญคือ ต้องทานยาอย่างต่อเนื่อง ห้ามหยุดยาเองเด็ดขาดแม้จะมีอาการดีขึ้นแล้ว เพื่อป้องกันเชื้อวัณโรคดื้อยาซึ่งจะรักษาได้ยากกว่าเดิม

         อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะแทรกซ้อนอันตราย เช่น ไอเป็นเลือดจำนวนมาก มีภาวะอากาศรั่วเข้าช่องเยื่อหุ้มปอด หรือเชื้อวัณโรคกระจายเข้าสู่กระแสเลือด จำเป็นต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด

ส่วนการป้องกันวัณโรค แนะนำให้ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ตรวจสุขภาพประจำปี ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ